เหล็กไทย-จีนแข่งเดือด คาดปีนี้ราคาในปท.ปรับลง 6% เหตุเหล็กจีนทะลัก

25 มีนาคม 2567
เหล็กไทย-จีนแข่งเดือด คาดปีนี้ราคาในปท.ปรับลง 6% เหตุเหล็กจีนทะลัก
ผู้ผลิตเหล็กไทย เผชิญการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากจีน คาดปี 67 ราคาเหล็กไทยหดตัวราว 6% แม้ความต้องการใช้ในประเทศจะมีสัญญาณฟื้นช่วงครึ่งปีหลัง แต่การแข่งขันที่สูง ยังกดดันความสามารถในการทำกำไรระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 66 ราคาเหล็กไทยหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาเหล็กทรงยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 22,434 บาท/ตัน ลดลง 12% และเหล็กทรงแบนเฉลี่ยอยู่ที่ 27,683 บาท/ตัน ลดลง 16% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเหล็กโลก ที่ปรับลดลงตามความต้องการใช้เหล็กที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่เผชิญปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงปัจจัยภายในของไทย จากการหดตัวของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ตามการอนุมัติงบประมาณปี 67 ที่ล่าช้า

ทั้งนี้ คาดว่าราคาเหล็กไทยในปี 67 จะยังปรับลดลงจากปีก่อนราว 6% แต่ยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยราคาเหล็กทรงยาว เฉลี่ยอยู่ที่ 21,000 บาท/ตัน และราคาเหล็กทรงแบน เฉลี่ยอยู่ที่ 26,000 บาท/ตัน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของราคาเหล็กไทยในปี 67 มีดังนี้

  • ราคาเหล็กโลกยังมีแนวโน้มปรับลดลง ตามการลงทุนก่อสร้างในหลายประเทศยังมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่ออุปสงค์เหล็กโลกให้เติบโตได้จำกัด โดยเฉพาะความต้องการใช้เหล็กของจีนที่ยังมีทิศทางฟื้นตัวช้าจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่คลี่คลาย สอดคล้องไปกับข้อมูลของ The China Metallurgical Industry and Research Institute ที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์เหล็กในจีน น่าจะยังหดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาราว 1.7% สวนทางกับการผลิตเหล็กของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง
  • ราคาเหล็กในประเทศถูกกดดันจากการไหลเข้าของเหล็กจีน โดยในปี 66 ไทยนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของจีน คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของปริมาณส่งออกเหล็กทั้งหมด ทำให้หลายประเทศผู้ผลิตเหล็กในอาเซียน เผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากการส่งออกเหล็กของจีน ที่นับเป็นปริมาณการส่งออกสูงสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่ไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการเริ่มเห็นข่าวปิดกิจการโรงงานเหล็ก ทั้งที่เป็น SMEs หรือแม้กระทั่งรายใหญ่
*ผู้ผลิตไทยแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากจีน

ผู้ผลิตเหล็กไทยแข่งขันลำบากกับเหล็กนำเข้าจากจีนที่ราคาถูกกว่า เนื่องจากไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเหล็กวัตถุดิบมาผลิต/แปรรูป (คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 60% ของอุปทานเหล็กในประเทศ) ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของไทยสูงกว่าจีนที่ผลิตเหล็กตั้งแต่ต้นน้ำ และมี Economy of scale สะท้อนผ่านราคาเหล็กที่ผลิตในไทยบางรายการสูงกว่าราคาเหล็กนำเข้าจากจีน

ทั้งนี้ ในปี 66 นอกจากผลของราคาเหล็กที่ลดลงแล้ว ผู้ผลิตเหล็กไทยยังเผชิญรายได้ที่หดตัวมากขึ้น ตามยอดขายที่ลดลง ซึ่งบางรายที่แข่งขันไม่ได้ก็จำเป็นต้องลดการผลิต เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่บางส่วนที่ประคองตัวได้ มีการปรับกลยุทธ์โดยขยายไลน์การผลิตเพื่อลดต้นทุน หรือหันไปผลิตเหล็กเกรดพิเศษต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไปจนถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เหล็กคาร์บอนต่ำ

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า แม้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะส่งสัญญาณฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่กลับมาเดินหน้าได้ แต่ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มได้ยาก จากการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้า ส่งผลให้การรักษา Margin ของผู้ผลิตเหล็กไทย ยังเผชิญความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง


แหล่งที่มา : RYT9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.