“เหล็กจีน” ตีตลาดโลก 5 เดือน 45 ล้านตัน กดไทยผลิตตํ่าสุดรอบ 7 ปี

02 กรกฎาคม 2567
“เหล็กจีน” ตีตลาดโลก 5 เดือน 45 ล้านตัน กดไทยผลิตตํ่าสุดรอบ 7 ปี

เหล็กจีนตีตลาดโลกหนัก 5 เดือนแรก กว่า 45 ล้านตัน กดการใช้กำลังผลิตไทยต่ำสุดรอบ 7 ปี เหลือแค่ 29% สถาบันเหล็กฯคาดความต้องการใช้เหล็กในประเทศปีนี้อยู่ที่ระดับ 16.6 ล้านตัน นำเข้าเหล็กนอกแชร์ตลาด 10-11 ล้านตัน หวังพึ่งงบรัฐช่วยดันภาคก่อสร้าง เพิ่มความต้องการใช้เหล็ก

ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตสะสมของผู้ผลิตเหล็กในประเทศของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 29.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 32.4 ซึ่งอัตราการใช้กำลังผลิตสะสมของผู้ผลิตเหล็กในประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ถือเป็นอัตราการใช้กำลังผลิตตํ่าสุดในรอบ 7 ปี (นับตั้งแต่ปี 2560)

นายวิโรจน์  โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้อัตรากำลังการผลิตเหล็กที่ตํ่าของผู้ประกอบการไทยดังกล่าว มีปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กที่มีการทุ่มตลาดจากต่างประเทศที่ส่งผลต่อความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยสูงของสถาบันการเงิน ทั้งสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อยานยนต์ กระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลต่อภาคการผลิตและปริมาณความต้องการใช้เหล็ก ที่สำคัญยังเป็นผลจากนโยบายภาคอุตสาหกรรมเหล็กของจีน รวมถึงแนวโน้มปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของจีน และการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนของสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีผลต่อการระบายสินค้าเหล็กของจีนไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเพิ่มขึ้น

“ทั้งนี้ในครึ่งปีหลัง แม้รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กำลังการผลิตเหล็กส่วนเกินของจีนยังมีอยู่สูง หากดูจากสถิติส่งออกเหล็กสำเร็จรูปของจีนล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีปริมาณรวมอยู่ที่ 44.65 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลในการกดดันการผลิตเหล็กในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยในครึ่งปีหลัง”

อย่างไรก็ดียังมีความหวังในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 80 ของการบริโภคเหล็กในประเทศ โดยภาคก่อสร้างมีความหวังจากการผ่านงบประมาณของภาครัฐ ที่รัฐบาลมีการสนับสนุนการใช้สินค้าภายในประเทศในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขณะที่การใช้เหล็กในภาคการผลิตยานยนต์เริ่มส่งสัญญาณแสดงถึงการชะลอตัว จากได้รับแรงกดดันของการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV)

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้เหล็กตลาดในประเทศของไทยปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 16.65 ล้านตัน หากใช้สัดส่วนการนำเข้าปี 2566 ที่ร้อยละ 60 ของการบริโภค คาดในปีนี้จะมีปริมาณการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปราว 10-11 ล้านตัน (ตลาดเหล็กไทยมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี) โดยตัวเลข 4 เดือนแรกปีนี้ไทยมีการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปแล้ว 3.7 ล้านตัน และผลิตเองในประเทศประมาณ 2 ล้านตัน

“ในแง่ผู้ประกอบการเหล็กไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง หลายโรงงานมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี หลายโรงงานต้องปิดตัวไป เนื่องจากถูกแย่งตลาดจากสินค้านำเข้า ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คล้าย ๆ กับกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการจ้างงาน เพราะอุตสาหกรรมเหล็กส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานฝีมือ อาทิ ช่างเทคนิค วิศวกร พนักงานในสายการผลิตที่มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น” นายวิโรจน์ กล่าว


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.