อุตสาหกรรมก่อสร้างโคม่า 6 พันราย แห่ปิดกิจการ ฉุดเศรษฐกิจวูบ

10 กรกฎาคม 2567
อุตสาหกรรมก่อสร้างโคม่า 6 พันราย แห่ปิดกิจการ ฉุดเศรษฐกิจวูบ
  • ผู้ประกอบการแห่ปิดกิจการ สะเทือนอุตสาหกรรมก่อสร้างวิกฤตหนัก ฉุดเศรษฐกิจวูบ
  • แนะภาครัฐดันมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นวงการอุตสาหกรรมฯรอบใหม่ ดึงกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
  • ห่วงอุตฯก่อสร้าง ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40  

ชนวนการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19  และความผันผวนทางเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายปิดกิจการลงจำนวนมาก และหนึ่งในนั้น คือ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยพบว่าในปี 2566 มีกลุ่มธุรกิจก่อสร้างที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์และปิดกิจการไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง

และครึ่งแรกปี 2567 ยอดจดทะเบียนยกเลิกกิจการ  6,039 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบริษัทขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะการชำระเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ของภาครัฐที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร และไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐ 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพบว่าภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงซ้ำอีกระลอก ส่งผลให้เอกชนหลายรายมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าอุตสาหกรรมวงการนี้ไม่น่าจะไปรอดได้ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มีงานในมือร่วมกับภาครัฐที่ลงนามสัญญาไปแล้ว กลับไม่สามารถปรับต้นทุนค่าก่อสร้างให้สอดรับตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ 

ฟากนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้รับเหมาเอกชนบางรายติดปัญหาการเบิกจ่ายค่างานไม่ครบตรงตามงวด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเรื่องนี้เป็นสัญญาระหว่างเอกชนที่ทำข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ หากไม่มีการชำระค่างานตามที่ตกลงกันอาจนำมาสู่การฟ้องร้องได้

ย้อนไปก่อนหน้านี้ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ เคยมีการหารือร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะร่วมกับหอการค้าไทยและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฯ โดยภาครัฐต้องหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการขายอสังหาริม-ทรัพย์มากขึ้น หากเอกชนสามารถขายอสังหาริมทรัพย์ได้จะทำให้มีเงินมาชำระค่างานที่ค้างแก่ผู้รับเหมาต่อไป

แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากำลังซื้อของคนภายในประเทศไม่มี อีกทั้งสถาบันทางการเงินไม่มีการปล่อยกู้แก่ผู้ซื้อและผู้รับเหมา ทำให้ได้รับผลกระทบต่อหลายขั้น ขณะที่มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยผู้ประกอบการ SME ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้น

ตามปกติสถาบันทางการเงินจะพิจารณาการปล่อยกู้แก่ผู้รับเหมารายกลางหรือรายเล็ก ต่อเมื่อมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความเสี่ยงด้านธุรกิจสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ปัญหาของผู้รับเหมาเหล่านี้ คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องหาทางช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตลอดจนผู้คนภายในประเทศมีกำลังซื้อมากขึ้น

ที่ผ่านมาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ เคยเสนอภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งเป็นมาตรการในกรณีที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเมื่อมีการชำระเงินจะผ่านเข้าระบบบัญชีกลาง โดยที่ไม่ได้ต้องผ่านสถาบันทางการเงินหรือ Developer โดยตรง

หาก Developer หรือสถาบันทางการเงินไม่มีการชำระค่างานแก่ผู้รับเหมาสามารถนำเงินจากระบบบัญชีกลางมาชำระแก่ผู้รับเหมาได้ ส่งผลให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการให้งานต่างๆมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อได้ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากภาครัฐ โดยเฉพาะ Developer หรือสถาบันทางการเงินไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะทำให้เสียผลประโยชน์ได้

ส่วนกรณีที่บทเรียนลอยตัวค่าเงินบาทจนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 มีแนวโน้มที่ส่งผลกระทบซ้ำรอยเดิมในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้น ปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ด้านการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีสถานะซึมระยะยาว หลังจากที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีการปิดกิจการทันทีเหมือนในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แต่จะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายๆเข้าสู่แผนฟื้นฟูและทยอยปิดกิจการลง ขณะที่วิฤตฯในปี 2540 ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นทันที ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก หากดูตามความเป็นจริงจะพบว่าสถานการณ์ทั้ง 2 ไม่ได้มีความแตกต่างกัน

ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีผู้รับเหมาก่อสร้างหลายรายไม่ได้รับเงินชดเชยจากนโยบายภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการจ่ายค่าปรับเป็น 0 เนื่องจากภาครัฐมีการออกนโยบายดังกล่าวมาทีหลัง  ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องนี้ภาครัฐควรชำระเงินคืนให้แก่ผู้รับเหมาเหล่านี้ เพราะเป็นสิทธิ์ที่เขาควรได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มีความตั้งใจทำงาน เมื่อมีปัญหาจากโควิด-19 ส่งผลให้งานเกิดความล่าช้าจนถูกปรับค่างาน แต่ยังส่งงานได้ครบตามกำหนด

หากท้ายที่สุดแล้วภาครัฐยังเมินเฉยและไม่สามารถแก้ปัญหาช่วยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นกลับมาคงที่ได้ตามปกติคงไม่ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.