วิกฤตจีน-สหรัฐรอบใหม่ เศรษฐกิจไทย “กระทะร้อน”

07 สิงหาคม 2565
วิกฤตจีน-สหรัฐรอบใหม่ เศรษฐกิจไทย “กระทะร้อน”

          ข่าวการเยือนไต้หวันของนางแนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ เมื่อค่ำคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ถือเป็นการเยือนไต้หวันโดยผู้นำระดับสูงของสหรัฐครั้งแรกในรอบ 25 ปี สร้างความไม่พอใจให้กับจีน จนต้องตอบโต้ด้วยการซ้อมรบในทันที

          ประเด็นนี้กำลังสร้างความสั่นสะเทือนไปสู่ประเทศเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกลุ่มอาเซียน รวมถึง “ไทย” ซึ่งเป็นคู่ค้าทั้งกับจีน และสหรัฐ

ตามภาษิตว่า “ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ”

          ย้อนไปตั้งแต่การประกาศเปิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2018 ที่ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 1,102 รายการ ในระดับ 25% โดยอ้างอิงถึงการใช้กฎหมายการค้าปี 1947 ตามมาตรา 301 ดำเนินการประเทศคู่ค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สร้างความชอบธรรมในการจัดการจีน นัยหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาความเสียเปรียบทางการค้า จากที่สหรัฐขาดดุลการค้าให้กับจีนเป็นเวลานาน

          ทางการจีนก็ออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 959 รายการเช่นกัน

          ผลจากมาตรการครั้งนั้นหญ้าแพรกชุ่มชื้นขึ้นเพราะทั้งสองประเทศต่างหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

          แต่ในรอบนี้หลายฝ่ายจับตาความรุนแรง ของ “สงครามการค้า” รอบใหม่ ที่เกิดจากอุดมการณ์การเมืองที่แตกต่าง นำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ค่ายประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเริ่มจะร้อนระอุมากขึ้น

          จนกดดันเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่ภาวะกระทะร้อน เพราะถึงไม่โดนไฟจากเตาโดยตรง แต่อาหารในกระทะก็แทบจะสุก

          ในมิติการค้าช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2565 “จีน” เป็นคู่ค้าและตลาดส่งออกอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกไปถึง 1.82 ล้านล้านบาท เทียบกับสหรัฐ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ไทยส่งออกไป 1.092 ล้านล้านบาท เทียบกับมูลค่าการส่งออกที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก 10.1 ล้านล้านบาท แต่ไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนและได้ดุลการค้าจากสหรัฐ

          อีกมิติหนึ่ง ไทยยังได้มีความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน-จีน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับจีนและอีก 14 ประเทศ ขณะที่ฝั่งสหรัฐที่เคยมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ก็หยุดชะงักไปกลางคัน ส่วนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP 11 ประเทศร่วมกับสหรัฐ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวออกกลางทาง จนทำให้ความตกลงดังกล่าวกลายร่างมาเป็นความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ปราศจากสหรัฐแทน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพราะไทยยังไม่ได้สรุปว่าจะเข้าร่วมขบวนหรือไม่

          โชคร้ายที่วิกฤตเทรดวอร์รอบใหม่มาอยู่จังหวะที่ “ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก” จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบ วิกฤตราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง หลาย ๆ สินค้าเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ ก็ต้องมาเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตเข้าไปอีก

          อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์จีโอโพลิติกที่อ่อนไหวและเปราะบางเช่นนี้ ไทยต้องให้ความสำคัญการวางตัวและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ถือเป็นการวัดฝีมือด้านเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.