จับสัญญาณสงครามการค้ารอบใหม่จากปมประธานสภาสหรัฐเยือนไต้หวัน

08 สิงหาคม 2565
จับสัญญาณสงครามการค้ารอบใหม่จากปมประธานสภาสหรัฐเยือนไต้หวัน

          การซ้อมรบของจีนรอบๆ ไต้หวันเพื่อตอบโต้ที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแวะมาเยือนเมื่อคืนวันอังคาร (2 ส.ค.) ถือเป็นการกระทำที่คาดหมายได้ แต่นอกเหนือจากนั้นคือการทำสงครามการค้าที่จีนไม่ได้นิ่งเฉยออกอาวุธด้านนี้ด้วยเช่นกัน

          เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เพโลซียังไม่มาด้วยซ้ำ แต่จีนปรามไว้ก่อนด้วยการระงับการนำเข้าบิสกิตและขนมอบจากผู้ส่งออกไต้หวัน 35 ราย

          สำนักข่าวกลางของทางการไต้หวันรายงานในวันที่ 2 ส.ค. ว่า บริษัทไต้หวัน 3,200 แห่งที่จดทะเบียนกับกรมศุลกากรจีนในหมวดอาหารถูก “ระงับนำเข้า” 2,066 บริษัท และบริษัท 107 รายที่จดทะเบียนในหมวดบิสกิต, ขนมอบ และขนมปัง ถูก “ระงับนำเข้า” 35 ราย

          กระสุนการค้านัดแรกที่จีนยิงใส่ไต้หวันเกิดขึ้นตอนที่โลกยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เพโลซีจะไปไต้หวันจริงหรือไม่ เมื่อคำสั่งห้ามนำเข้าออกมานักวิเคราะห์หลายคนมั่นใจว่า เพโลซีต้องไปไต้หวันแน่ๆ

ความสำคัญของจีนต่อไต้หวัน

          จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่เหนือกว่าสหรัฐมาก นับถึงขณะนี้จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไต้หวัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของไต้หวัน เช่น ไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (ทีเอสเอ็มซี) ผู้ผลิตชิพรายใหญ่สุดของโลกมีโรงงานหลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่

          เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างข้อมูลทางการจากบริษัทข้อมูลการเงิน Wind Information ว่า ปี 2564 ไต้หวันส่งออกมายังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง 42% ส่งออกไปสหรัฐ 15%

          กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่า ปี 2564 ไต้หวันส่งออกสินค้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง มูลค่า 1.88 แสนล้านดอลลาร์ กว่าครึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคืออุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาแม้แต่กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไต้หวันก็ส่งออกมากกว่าสหรัฐ มูลค่า 7.02 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับการส่งออกไปสหรัฐ 6.57 หมื่นล้านดอลลาร์

          จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดจากไต้หวันครองสัดส่วน 22% สหรัฐครองสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งยังน้อยกว่าญี่ปุ่น ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไต้หวันซื้อสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น และจีนก็ทำเช่นเดียวกัน

          ห้าปีที่ผ่านมาไต้หวันนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่พุ่งขึ้นราว 87% เทียบกับ 44% ที่นำเข้าเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ

          ระหว่างปี 2559-2564 ไต้หวันส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 71% แต่ส่งออกไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขยายตัว 97% ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐระบุ สินค้าที่สหรัฐซื้อมากที่สุด เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์ พลาสติกและเหล็ก และสินค้าเหล็ก

          บริษัทไต้หวันหลายแห่ง เช่น ฟอกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์แอ๊ปเปิ้ลมีโรงงานอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

          ปี 2564 ธุรกิจไต้หวันทำเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกสหรัฐ

          อีกหนึ่งสัญญาณที่ชวนให้คิดว่านี่คือการตอบโต้ทางการค้าจากจีน ตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันอังคารตามเวลาสหรัฐว่า ซีเอทีแอล ผู้ผลิตแบตเตอรีรายใหญ่สุดของโลกสัญชาติจีน ชะลอการตัดสินใจแผนตั้งโรงงานในอเมริกาเหนือหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐไปเยือนไต้หวัน โดยระบุว่า จะประกาศแผนในเดือน ก.ย.และ ต.ค.

          วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานในวันรุ่งขึ้นว่า ก่อนการเยือนของเพโลซีที่จีนมองว่าเป็นการยั่วยุ ซีเอทีแอลมีแผนประกาศแผนการลงทุนในเดือนนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ติดตามประเด็นนี้และไม่อาจยืนยันได้ว่า ซีเอทีแอลเลื่อนการประกาศแผนการลงทุนที่ทุกคนรอคอยมานานจริงหรือไม่ ผลจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ซีเอทีแอลไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์

          อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในที่รู้แผนการบริษัทเผยกับรอยเตอร์ว่า ซีเอทีแอลไม่ได้เปลี่ยนแผนเริ่มการผลิตแบตเตอรีในอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี 2569 คาดว่าเพื่อจัดหาแบตเตอรีรถอีวีให้กับฟอร์ด, บีเอ็มดับเบิลยู และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นรวมถึงเทสลา

          สงครามการค้าคืออะไร

          ข้อมูลจากยาฮูไฟแนนซ์ระบุ สงครามการค้าหรือเทรดวอร์ หมายถึง ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เห็นได้จากการขึ้นภาษีและการกระทำเพื่อกีดกันทางการค้าอื่นๆ

          สงครามการค้าเกิดขึ้นเมื่อประเทศหนึ่งประกาศเก็บภาษีหรือข้อจำกัดการนำเข้า หรือกำหนดโควตาการนำเข้าจากอีกประเทศหนึ่ง ส่งผลให้ประเทศนั้นประกาศเก็บภาษีหรือข้อจำกัดการนำเข้า หรือกำหนดโควตาการนำเข้าตอบโต้บ้าง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

          เทรดวอร์อันลือลั่นเมื่อเร็วๆ นี้คือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน เมื่อปี 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศแผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมแล้วกว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์ จีนเก็บภาษีตอบโต้กว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์

ตรวจสภาพเศรษฐกิจจีน-สหรัฐ

          ในไตรมาสสองจีดีพีจีนขยายตัวเพียง 0.4% ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 5.5% ที่รัฐบาลจีนตั้งเอาไว้ อีกทั้งยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1%

          เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอตัวลงดังข้างต้น เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ มีการล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญอย่าง เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงักนานถึงสองเดือน อีกทั้งผลกระทบไม่ได้มีแค่จีน แต่ยังทำให้ขาดแคลนอุปทานในหลายพื้นที่ของโลก นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักให้ระดับเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งในสหรัฐและอียู

          นอกจากนั้น โกลด์แมน แซคส์ยังได้ปรับลดตัวเลขจีดีพีคาดการณ์ของเศรษฐกิจจีน ปี 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5.5%

          อีกปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับเศรษฐกิจจีนคือ วิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มต้นจากวิกฤติหนี้ของ “เอเวอร์แกรนด์” บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่อันดับสองของจีนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการควบคุมระดับหนี้ของรัฐบาล เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินรวมทั้งหมดราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 2% ของขนาดเศรษฐกิจจีน และยังมีหนี้ระยะสั้นด้วยสัดส่วน 42% ของหนี้สินรวม ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในภาคอสังหาฯ อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาฯ มีการเติบโตอย่างชะลอตัว จากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 เป็นผลให้รายได้บริษัทอสังหาฯ รวมถึงเอเวอร์แกรนด์ย่ำแย่ลง

          ปีนี้วิกฤติเสี่ยงลุกลามขึ้นอีกผลจากการระงับการดำเนินโครงการอสังหาฯ บางโครงการนั้น มีผลให้ประชาชนไม่ต่ำกว่าล้านคนต้องแบกภาระหนี้ไปกับบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้ในปลายเดือนมิ.ย. มีการออกมาประท้วงไม่จ่ายหนี้สำหรับผ่อนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ส่งผลกระทบต่อโครงการอสังหาฯ อย่างน้อย 301 โครงการ จาก 91 เมืองทั่วประเทศ

          เศรษฐกิจสหรัฐเองก็ไม่ได้สวยงามตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองของสหรัฐติดลบต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค(Technical Recession) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ยังคงทุบสถิติในรอบ 40 ปีอีกครั้ง ด้วยตัวเลข 9.1% จึงมีการคาดกันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงอีก

          นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้วทั้งสองประเทศยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาผสมโรงด้วย สหรัฐจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือน พ.ย. จีนจะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ราวเดือน ต.ค.หรือ พ.ย. การทำสงครามการค้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไม่ใช่จังหวะก้าวที่ดีของทั้งคู่ เพราะแค่การระบาดของโควิด-19 และสงครามของรัสเซียในยูเครนก็ทำให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลกเจ็บหนักพอๆ กัน ประเด็นเพโลซีเยือนไต้หวันจึงเป็นการตอบโต้กันเชิงสัญลักษณ์พอหอมปากหอมคอมากกว่า


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.