ขาดดุลจีน 2.82 แสนล้าน แค่ตั้งการ์ดภาษี…พอหรือยัง ?... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1542645

22 เมษายน 2567
ขาดดุลจีน 2.82 แสนล้าน แค่ตั้งการ์ดภาษี…พอหรือยัง ?... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1542645

ต้องยอมรับว่าจีนคือคู่ค้าคนสำคัญของไทย ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเช่นกัน ด้วยจีนมีแต้มต่อมากกว่าเพราะมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบ ซัพพลายเชน ในการผลิตสินค้า ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำส่งผลให้สินค้ามีราคาถูก บวกกับช่องทางการตลาดที่เปิดกว้างการค้าขายออนไลน์ ยิ่งกลับทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยง่ายขึ้น

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2566 ไทย-จีน มีมูลค่าการค้า 3.64 ล้านล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายนำเข้าจากจีน 2.47 ล้านล้านบาท ส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทย ขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ท็อป 10 สินค้าจีนถล่มไทย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) 2567 ไทย-จีน มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 601,049 ล้านบาท ไทยนำเข้า 441,560 ล้านบาท และส่งออก 159,488 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้จีน 282,071 ล้านบาท

โดยท็อป 10 สินค้าหลักที่ไทยนิยมนำเข้าจากจีน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรก เรียงตามสัดส่วนการนำเข้า ได้แก่ 1) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 56,569 ล้านบาท ขยายตัว 24.04% คิดเป็นสัดส่วน 12.81% ของการนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมด 2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 42,890 ล้านบาท ขยายตัว 35.32% คิดเป็นสัดส่วน 9.71% 3) เคมีภัณฑ์ 36,751 ล้านบาท ขยายตัว 10.73% คิดเป็นสัดส่วน 8.32%

4) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 22,476 ล้านบาท ขยายตัว 8.31% คิดเป็นสัดส่วน 5.09% 5) สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 17,599 ล้านบาท ขยายตัว 14.69% คิดเป็นสัดส่วน 3.99% 6) ผลิตภัณฑ์โลหะ 16,091 ล้านบาท ขยายตัว 9.66% คิดเป็นสัดส่วน 3.64%

7) ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก 14,522 ล้านบาท ขยายตัว 33.12% คิดเป็นสัดส่วน 3.29%

8) แผงวงจรไฟฟ้า 13,467 ล้านบาท ขยายตัว 21.57% คิดเป็นสัดส่วน 3.05%

9) สินค้าอื่น ๆ 13,392 ล้านบาท ขยายตัว 76.65% คิดเป็นสัดส่วน 3.03%

และ 10) เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งในบ้านเรือน 8,336 ล้านบาท ขยายตัว 45.79% คิดเป็นสัดส่วน1.89%

สินค้าด้อยคุณภาพทะลัก

อีกด้านหนึ่งในปี 2566 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ตรวจสอบและจับกุมสินค้านำเข้าที่ด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะที่นำเข้ามาจากประเทศจีน มูลค่าความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท ซึ่งพบว่าสินค้าที่พบมากที่สุด อันดับ 1 คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงของใช้ในครัวเรือน เช่น โคมไฟ หลอดไฟ ไดร์เป่าผม มูลค่า 24,397,974 บาท

อันดับ 2 กลุ่มยานยนต์ เช่น ยางล้อ มูลค่า 9,456,498 บาท อันดับ 3 กลุ่มพลาสติก เช่น หลอด ฟิล์มห่ออาหาร มีมูลค่า 7,668,421 บาท อันดับ 4 กลุ่มเหล็ก มูลค่า 4,305,684 บาท รวมถึงการตรวจโกดังที่นำเข้าเหล็กแผ่นตัดรีดร้อน ไม่ได้มาตรฐานน้ำหนักรวม 1,133 ตัน มูลค่า 31,926,078 บาท

อันดับ 5 กลุ่มเครื่องมือแพทย์ เช่น หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา ถุงมือแพทย์ ชุดตรวจวัดไข้ มูลค่า 3,024,845 บาท อันดับ 6 กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ตะปู กระเบื้อง สี มูลค่า 2,579,135 บาท อันดับ 7 กลุ่มโภคภัณฑ์มูลค่า 769,853 บาท

ส.อ.ท.จับตาผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ เป็นสิ่งที่รัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อเนื่อง “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สินค้าจีนดัมพ์ราคา ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดไลน์การผลิต ความพยายามในการดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด จึงต้องหันไปใช้วิธีนำเข้าและติดแบรนด์เป็นของตัวเองเพื่อทดแทนไลน์การผลิตที่ปิดลง วิธีการในลักษณะนี้ย่อมคุ้มกว่าการลงทุนตั้งโรงงานและผลิตเอง แต่นี่ถือว่าเป็นภัยอันตรายของผู้ประกอบการไทยอย่างมาก และยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที

ซึ่งผลกระทบกับ 20 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 46 อุตสาหกรรม สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่พบว่าก็มีการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตสินค้าในประเทศจะลดลงเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้จะกลายเป็นผู้ประกอบการเลือกปิดไลน์การผลิต และจะหันไปนำเข้าสินค้าแทน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500

ซึ่งต้องยอมรับว่า ภาคเอกชนได้มีการขับเคลื่อนเสนอแนวทางขอให้ภาครัฐ พิจารณามาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามาถล่มตลาดด้วยราคาที่ถูก โดยการปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (Free Zone) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ควรใช้วิธีการสุ่มตรวจ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ยังคงมีสินค้าหลุดรอดออกมาได้จนถึงทุกวันนี้

“การแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้มาตรการยาแรงจากภาครัฐ ที่ผ่านมาอย่างมาตรการจากกระทรวงการคลัง ที่กำลังพิจารณาการเตรียมที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ คู่ไปกับงานด้านศุลกากรที่ต้องตรวบสอบเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ในปริมาณที่มากกว่าปกติ โดยเพิ่มเป็น 70-100%”

ในฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนด มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตรวจควบคุมใบอนุญาตนำเข้าให้เข้มงวด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย ทั้งการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measures : AD) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention : AC) หรือแม้แต่มาตรการเซฟการ์ด (SG) เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม

ตั้งการ์ดอาจจะยังไม่พอ

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งที่ได้มีการเรียกร้องให้ออกมาตรการด้านภาษีเอดี และเซฟการ์ดมาช่วยเหลือมากที่สุด 26 เคส เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาด ส่งผลให้ราคาเหล็กที่ผลิตในไทยถูกกดราคาอย่างหนัก ร่วงเฉลี่ยต่อปี 5-10% จนทำให้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศลดลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น

และที่สำคัญ โรงงานเหล็กจากจีนยังได้สยายปีกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ตั้งร้านค้าเหล็กเอง และนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่าย โรงงานเหล็กเริ่มยืนหยัดไม่ไหว ต้องปิดตัวไปอย่างกรณีโรงเหล็กกรุงเทพที่ปิดฉากกิจการที่ก่อร่างสร้างตัวมายาวนานเกือบ 60 ปี

แต่ทว่าการใช้มาตรการกำแพงภาษีเอดี หรือเซฟการ์ด ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นเพียงมาตรการต่อลมหายใจชั่วคราวให้เอกชนไทยลุกขึ้นสู้ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรม

ซึ่งกลุ่มเหล็ก นำโดย นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เข้าพบ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อยื่นข้อเสนอและวางทางออกในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นแรงผลักดันให้สินค้าจีนที่ผลิตจนโอเวอร์ซัพพลายทะลักเข้ามาในอาเซียน รวมถึงไทย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีน

แต่อยากให้มองถึงอีกด้านว่า สินค้าที่ไทยนำเข้ามานั้นเป็นวัตถุดิบที่ไทยสามารถใช้ผลิตต่อเพื่อสร้างรายได้กลับมายังประเทศไทยหรือไม่ โดยจะต้องลงไปพิจารณาถึงรายละเอียดของสินค้านำเข้าว่าไทยขาดดุลการค้าเพราะสินค้าอะไร ซึ่งหากไทยปรับโครงการผลิต ดึงจีนเป็นพันธมิตรมาลงทุนผลิตสินค้าร่วมกัน ไทยอาจจะได้ประโยชน์จากทั้งค่าเช่าที่ดิน การจ้างแรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือไม่

หลังจากนี้หวังอย่างยิ่งว่า ภาครัฐอาจต้องหันมากำหนด “จุดยืน” ทิศทางการค้าและการลงทุนไทย-จีน ควรเป็นอย่างไร จะสกัดหรือจับมือเดินไปด้วยกันอย่างไร

แต่สำหรับในมุมผู้บริโภคแล้ว ควรปลูกฝังความตระหนักรู้ ให้รับทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ต้องรู้จัก “ฉลาดซื้อ” ก่อนเป็นอันดับแรก


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.