5 สาเหตุหลัก ทำดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ดิ่งเป็นเดือนที่ 3

17 กรกฎาคม 2567
5 สาเหตุหลัก ทำดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ดิ่งเป็นเดือนที่ 3
ส.อ.ท.ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 87.2 จาก 88.5 ร่วงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แนะรัฐส่งเสริมใช้สินค้าผลิตในไทย คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าดัชนีปรับลงอีกต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ขึ้นค่าแรงเหตุผลหลัก

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า

จาก 1.อุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง 2.กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง 3.ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ4.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้ายังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น 5.ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low Season และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ อาเซียน อินเดีย และจีนที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 62.4% เศรษฐกิจในประเทศ 63.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 49.4% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลง จาก 95.7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก

นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนรอบใหม่ จากการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต

ส.อ.ท.จึงขอให้รัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง อาทิ ออกมาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs

ออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand หรือ MIT)

เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.