จีนผลิตเหล็กเกิน จนท่วมตลาดโลก หลายประเทศเตรียมเปิดการสอบสวนตอบโต้ทุ่มตลาด

23 กรกฎาคม 2567
จีนผลิตเหล็กเกิน จนท่วมตลาดโลก หลายประเทศเตรียมเปิดการสอบสวนตอบโต้ทุ่มตลาด
แม้ว่าอุปสงค์เหล็กในประเทศจะตกต่ำ จนทำให้มีสินค้าคงคลังเหลืออยู่มากถึง 4 ล้านตัน แต่จีนกลับยังไม่ลดกำลังการผลิตลง และขนถ่ายสินค้าส่วนเกินไปยังตลาดโลกแทน ทำให้หลายประเทศเปิดการสอบสวนตอบโต้การทุ่มตลาด

แม้ว่าอุปสงค์เหล็กในประเทศจะตกต่ำ จนทำให้มีสินค้าคงคลังเหลืออยู่มากถึง 4 ล้านตัน แต่จีนกลับยังไม่ลดกำลังการผลิตลง และขนถ่ายสินค้าส่วนเกินไปยังตลาดโลกแทน ทำให้หลายประเทศเปิดการสอบสวนตอบโต้การทุ่มตลาด

วันที่ 23 กรกฎาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่าผู้ส่งออกเหล็กชาวจีนกำลังขนถ่ายสินค้าส่วนเกินมายังตลาดโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าอุปสงค์ภายในจีนกำลังซบเซา จนทำให้หลายประเทศหันมาสอบสวนเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาดทันที

โดยในครึ่งแรกของปี 2024 จีนส่งออกเหล็กไปแล้ว 53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมา 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และมีแนวโน้มว่าการส่งออกรวมในปีปฏิทิน 2024 จะเข้าใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 110 ล้านตันเหมือนที่ทำไว้ในปี 2015 

สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นมานี้ มีนัยสำคัญต่อผู้ผลิตเหล็กมากกว่าผู้จัดจำหน่าย ซึ่งขณะนี้มีระดับการผลิตกลับมาเทียบเท่ากับในช่วงปี 2020 แล้ว แต่สิ่งที่ต่างไปคราวนี้ คือมีเหล็กคงค้างอยู่กว่า 4 ล้านตันในคลังสินค้า ผู้ผลิตเหล็กจึงหันมาส่งออกเพื่อระบายสินค้าคงคลังกองพะเนิน จากอุปสงค์ในประเทศที่ต่ำ

ตามข้อมูลจากบริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่ ราคาของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot-rolled Coil) หรือเหล็กม้วนดำ (Black Coil) ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากราว 700 ถึง 900 ดอลลาร์ต่อตัน (ประมาณ 25,000 ถึง 32,000 บาท) ในช่วงปี 2021 ถึงกลางปี 2022 ลดลงมาอยู่ที่ 510 ถึง 520 ดอลลาร์ต่อตัน (ประมาณ 18,400 ถึง 18,800 บาท) 
ทั้งนี้ ราคาเพื่อใช้ชำระหนี้ในระยะสั้นของฟิวเจอร์ส หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเหล็กม้วนดำในตลาดอนุพันธ์ CME (Chicago Mercantile Exchange) ก็ร่วงลงอย่างหนักเช่นกันจากมากกว่า 1000 ดอลลาร์ (ราว 36,000 บาท) ตอนสิ้นปี 2023 อยู่ที่ 660 ดอลลาร์ (ราว 23,900 บาท)

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกเหล็กของจีนถือว่ายังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตเหล็กกล้าดิบ (Crude Steel) ซึ่งทะลุ 1,000 ล้านตันในปีที่แล้ว และคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตเหล็กทั้งหมด 1,890 ล้านตันในปี 2023 และหากดีมานด์ในประเทศลดลง จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก สามารถปั่นป่วนตลาดโลกได้ จากการผลิตที่เกินมา

ซึ่งหนหลังสุดที่การส่งออกเหล็กของจีนพุ่งทะยาน ผู้นำโลกต้องมารวมตัวกันในงานประชุม G20 และ G7 ประจำปี 2016 เพื่อหารือแนวทางกำจัดการผลิตที่เกินมา จนนำไปสู่การก่อตั้ง GFSEC (Global Forum on Steel Excess Capacity) หรือการประชุมโลกว่าด้วยศักยภาพการผลิตเหล็กล้นเกิน

ถึงอย่างนั้น จีนถอนตัวจาก GFSEC ในปี 2019 หลังจากก่อตั้งมาได้สามปี โดยกล่าวว่าจีนได้บรรลุภารกิจในการลดกำลังการผลิตแล้วจากปี 2016 ถึง 2018 และกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งในปี 2019

จากการผลิตที่มากเกิน ข้อมูลของศูนย์วิจัยซูมิโมโตะ (Sumitomo Corp) เผยว่าความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตเหล็กชาวจีนก็ลดลงเช่นกัน โดยในเดือนเมษายน ทางการจีนได้ทำการสำรวจผู้ผลิตเหล็กในประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศ และได้ประกาศรณรงค์ให้ลดการผลิตเหล็กกล้าดิบทั่วประเทศอีกด้วย

ทว่าการผลิตในเดือนพฤษภาคมกลับเพิ่มขึ้น 2.7% นั่นหมายความว่าการรณรงค์ลดกำลังการผลิตไม่เป็นผล ทั้งนี้ ผู้คนบางส่วนเชื่อว่ารัฐบาลท้องถิ่นไม่อยากให้สภาวะทางการจ้างงานและการเงินแย่ลง จึงคงไว้ซึ่งสภาพที่เป็นอยู่เดิม

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาผู้ผลิตเหล็กในประเทศพัฒนาแล้วยังกังวลต่อการส่งออกเหล็กแผ่นคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นของจีน โดยเหล็กเส้น (Steel Bar) สำหรับการก่อสร้างที่เคยเกิน 30 ล้านตันในปี 2015 ตอนนี้ยังคงเกินอยู่ แต่ก็ลดลงมาจนเหลือน้อยกว่า 6 ล้านตันแล้วในปี 2023

นอกจากนี้ จีนส่งออกเหล็กแผ่นดำ (Hot Rolled Steel Sheet) ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในภาคการผลิต ซึ่งเคยไต่ระดับขึ้นสูงกว่า 40% เป็นมากกว่า 20 ล้านตันในปี 2023 และแตะระดับใกล้เคียง 12 ล้านตันแล้ว เพียงแค่ห้าเดือนแรกของปีนี้

ญี่ปุ่นมีการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 15 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 86% ในช่วงเวลาดังกล่าว 

การที่จีนเลือกส่งออกทางอ้อมโดยขายผ่านคนกลางเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด กำลังเป็นที่กังวลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ตัวเลขของการสืบสวนเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาดทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตลอดห้าปีที่ผ่านมา โดยสินค้า 14 รายการที่เปิดตัวในปีนี้ก่อนเดือนกรกฎาคม มีความเกี่ยวข้องกับจีนไปแล้ว 10 รายการ

ตัวเลขการสืบสวนยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับ 39 คดีในปี 2015 ถึง 2016 ซึ่งผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาจีนไม่อยากทำให้จีนต้องโกรธเคืองด้วยการเปิดการสอบสวนเช่นนี้

โทรุ นิชิฮามะ (Toru Nishihama) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัย Dai-ichi Life Research Institute กล่าวว่า จีนกำลังย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไปต่างประเทศ ทำให้การส่งออกเหล็กกับชิ้นส่วนไปยังฐานการผลิตแห่งใหม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

และเสริมอีกว่า ตามกลยุทธ์ขยายการลงทุนในการผลิตขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้บริษัทเหล็กรายใหญ่เพิ่มกำลังการผลิตแผ่นเหล็กซิลิกอนที่ใช้ในมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีการผลิตมากเกินไป จีนอาจกดค่าเงินหยวนให้ต่ำลง เพื่อขยายการส่งออกและกระตุ้นเศรษฐกิจแทน

โทรุ นิชิฮามะ ยังกล่าวถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ว่าจะรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.