อุตสาหกรรมไทยยังวิกฤตดัชนีผลผลิต มิ.ย. หดตัว 1.71% สศอ. ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง

02 สิงหาคม 2567
อุตสาหกรรมไทยยังวิกฤตดัชนีผลผลิต มิ.ย. หดตัว 1.71% สศอ. ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71% กำลังซื้อภายในประเทศหดตัว หนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยยังสูง สินค้านำเข้าทะลักไทย หวัง 4 ปัจจัยบวก EV โซลาร์เซลล์ ดิจิทัลวอลเลตกระตุ้นกำลังซื้อ เดือนกรกฎาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง”

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยยังคงหดตัว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.41% เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย

การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้ไตรมาส 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัวเฉลี่ย 0.27% มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 3.58% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 57.79%

ในขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ย 2.01% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.11% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้า MPI ปี 2567 จะอยู่ที่ 0-1% GDP อุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.5-1.5% โอกาสที่จะปรับเพิ่มมี 4 ปัจจัยหลัก คือ การมีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาอย่าง EV การลงทุนจากกลุ่มแผงโซลาร์เซลล์ งบประมาณเบิกจ่ายที่จะทำให้หลายโครงการเดินหน้า และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่จะส่งผลต่อภาคการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง จึงคาดการณ์ว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ GDP อุตสาหกรรมปีนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41.90% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น ตลาดส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าอย่างประเทศอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศ

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.58% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเบนซินเป็นหลัก ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชนในประเทศ

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.33% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ขยายตัวจากตลาดต่างประเทศ ประกอบกับการปรับลดราคาสินค้าลงตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.05% จากรถบรรทุก ปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.08% จาก PCBA และ Integrated Circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยหดตัวทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ จักรยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.42% ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ประกอบกับความต้องการของประเทศคู่ค้าลดลง
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.