รับมือสินค้าจีนทะลักต้องปกป้องผู้ผลิตในประเทศ

02 สิงหาคม 2567
รับมือสินค้าจีนทะลักต้องปกป้องผู้ผลิตในประเทศ
นาทีนี้เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการรับมือต้องเป็นเรื่อง “สินค้าจีน”ราคาถูกทะลักเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ที่ราคาขายต่ำกว่าสินค้าไทย 20-30%

ส่งผลกระทบกับมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 46 อุตสาหกรรมแล้ว เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวต่อเนื่อง 1 ปี แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตสินค้าในประเทศลดลงหากไม่ดำเนินการแก้ไขปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไปอีก ผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนไปเป็นผู้นำเข้าสินค้าราคาที่ต้นทุนต่ำกว่าแทนการผลิตเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบเอสเอ็มอี

การที่จีนผลิตสินค้าได้ในราคาถูกเนื่องจากได้เปรียบเชิงปริมาณที่ผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) สินค้าที่ผลิตในจีนจึงมีราคาถูก

ในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเยี่ยงนี้ สินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีน จึงเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคของไทยหันไปเลือกซื้อมากขึ้นผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น สินค้าออนไลน์ และในระยะยาว หากผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ ต้องปิดกิจการหรือปิดโรงงาน แรงงานไทยก็จะตกงานมากขึ้นตามไปด้วย

รัฐบาลควรส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้ เพิ่มเติมจากมาตรการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบคลังสินค้านำเข้า จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7 % จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท รวมทั้ง ปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร(ฟรีโซน) เพิ่มการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากรให้ได้ 100% จากเดิมที่สุ่มตรวจเพียง 30% ของรายการสินค้านำเข้า

หรือเพิ่มมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เหมือนรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ประกาศเก็บภาษีกับสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจ SME รายเล็ก เช่น รองเท้า สินค้าเซรามิก โดยเบื้องต้นจะเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ที่อัตรา 100-200 %

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับตัวผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้ เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพิ่มบริการหลังการขาย ให้บริการที่ครบวงจรตามที่ลูกค้าต้องการ แทนการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยอยู่รอดได้ ท่ามกลางสงครามสินค้าราคาถูก และยังจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะการที่ Temu บุกตลาดไทยต้องส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.