ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เห็นการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน การเข้ามาของทุนจีนในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงานทดแทน หรืออุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น เกษตรกรรม ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันมีนักธุรกิจจีนเข้ามายังประเทศไทยมากมาย
สาเหตุที่นักธุรกิจจีนเข้ามาเยอะเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศจีนไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงโควิด-19 และด้วยความที่การแข่งขันในประเทศจีนนั้นสูงอยู่แล้ว ประกอบกับรัฐบาลจีนได้ออกนโยบาย “China Common Prosperity” หรือ “ความมั่งคั่งร่วมกัน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง สร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น และลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน นักธุรกิจจีนที่มีรายได้มหาศาลจึงมักถูกเพ่งเล็งโดยรัฐบาลจีน
หากมองย้อนกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดจีนแทบจะไม่มี Startup ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเลย เนื่องจากการทำธุรกิจในประเทศจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้โดนรัฐบาลจีนเพ่งเล็งและกำกับได้ ดังนั้นนักธุรกิจจีนจำนวนมากจึงเลือกออกมาทำธุรกิจในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ที่มีการให้ฟรีวีซ่ากับคนจีน เมื่อได้ฟรีวีซ่าทำให้คนจีนเริ่มบุกหนัก โดยซื้อธุรกิจ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น
การลงทุนจากจีนในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความสามารถในการรองรับคนจีนเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลที่นักธุรกิจจีนมองหาโอกาสใหม่ ๆ และก้าวเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จากการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ดังนี้
1.ภาษี 0% (FTA) : เช่น นำรถยนต์ไฟฟ้าหรือสินค้าจากจีนเข้ามา ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
2.สิทธิพิเศษจาก BOI, EEC : เช่น อยากจะตั้งบริษัท สามารถเข้ามาเปิดบริษัทได้ ภาษีนิติบุคคลไม่ต้องเสีย
3.ฟรี Visa : สามารถเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ 2 อาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องขอ Visa ทำให้การเดินทางเข้าออกสะดวก
จะเห็นว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแล้ว ประเทศไทยเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจจีนอย่างมาก และโครงสร้างพื้นฐานในไทยตอนนี้พร้อมรับการลงทุนจากจีนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพและอาหาร หากพูดถึงเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถจำแนกเป็นประเภทได้อย่างหลากหลาย ดังนี้
1.การค้าปลีก : สินค้าอุปโภค-บริโภค, เครื่องสำอาง, ร้านอาหาร, คอนเสิร์ต, เครื่องใช้ไฟฟ้า และจิวเวลรี่
2.การท่องเที่ยว : สถานที่ท่องเที่ยว, ร้านค้าของที่ระลึก/พุทธพาณิชย์, โรงแรม และทัวร์
3.การเกษตร : สวนผลไม้ (ล้ง), ยางพารา, ไม้ดอกไม้ประดับ และผักสด
4.ภาคอุตสาหกรรม : รถยนต์ EV,วัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมเหล็ก, Lighting/Solar Cell และยา
5.เทคโนโลยี : Content OTT, Cloud & IOT, Data Center, ERP, EC Enabler
6.อาวุธ/ยุทโธปกรณ์ : รถถัง VT4, รถหุ้มเกราะ VN1, เรือดำน้ำ S26T
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสมาคมธุรกิจของจีน เมื่อมีการรวมตัวกันของคนจีน ทำให้มีสายสัมพันธ์ที่เอื้ออำนวยประโยชน์กันและกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้นักธุรกิจจีนเข้ามาประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย
รัฐบาลไทยควรตระหนักถึงผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ไทย ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยควรออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน ป้องกันไม่ให้ธุรกิจจีนเข้ามาผูกขาดตลาด และลดผลกระทบด้านลบต่อ SMEs ไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการจ้างงานกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ หากรัฐบาลไม่เร่งวางมาตรการรองรับ SMEs ไทยจำนวนมากอาจต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
ทางออกของไทยอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างการดึงดูดการลงทุนกับการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รัฐบาลควรออกมาตรการที่เป็นรูปธรรม เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกำหนดกฎข้อบังคับที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
การรับมือกับกระแสทุนจีนไม่ใช่การปิดกั้น แต่เป็นการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ