กระทรวงอุตสาหกรรมคลอดเกณฑ์อุตฯสีเขียวมุ่ง "Carbon Neutrality-Net Zero"

13 สิงหาคม 2567
กระทรวงอุตสาหกรรมคลอดเกณฑ์อุตฯสีเขียวมุ่ง "Carbon Neutrality-Net Zero"
      กระทรวงอุตสาหกรรมคลอดเกณฑ์อุตฯสีเขียวมุ่ง "Carbon Neutrality-Net Zero" เดินหน้ายกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 1/67 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) ใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ จึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ ทักษะคุณภาพแรงงาน และสิ่งสำคัญคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลกสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในปี 68 ทุกโรงงานต้องผ่าน GI 100% ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ต้องมุ่งมั่นประกอบกิจการโรงงานให้มีความปลอดภัย ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญควบคู่ไปกับนโยบาย Green Productivity การเพิ่มผลิตภาพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เครื่องมือ เทคนิค ระบบการบริหารจัดการ และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการ PDCA (Plan Do Check Act) ในการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

อุตสาหกรรมสีเขียวช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของสถานประกอบการ ส่งผลดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมโดยรวม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. ได้ปรับหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวให้สอดรับกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ 

  • GI 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) มุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมร่วมผ่าน i-Industry เพื่อรับทราบนโยบายของกระทรวงฯ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงาน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม  
  • GI 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ด้านการใช้ทรัพยากร ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการจัดการของเสีย และอื่น ๆ ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  • GI 3 ระบบสีเขียว (Green System) โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการประเมินตนเองผ่าน Thailand i4.0 Checkup เพื่อประเมินระดับความพร้อมสู่องค์กรแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ DIW Safety Application เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานด้านความปลอดภัย รวมถึงแสดงผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง 
  • GI 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3 และได้รับการรับรอง CSR-DIW Continuous หรือ CSR-DPIM Continuous หรือ ผ่านการทวนสอบว่าเป็นไปตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม มอก. 26000-2553 หรือ ISO 26000-2010 จากหน่วยรับรอง หรือหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบที่ได้รับการรับรอง มีการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร มีการดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินการในสภาวะปกติ 
  • GI 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 มีการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว กรณีห่วงโซ่อุปทานที่เป็นโรงงานกลุ่มที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ต้องได้ GI 3 ขึ้นไป ส่วนกรณีไม่เป็นโรงงานแต่มีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีมาตรการควบคุมหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้น มีการเสนอแผนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Plan) หรือแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission Plan) รวมถึงแสดงผลการกระจายรายได้สู่ชุมชน และผลการประเมินความพึงพอใจเฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 80% 

อย่างไรก็ดี กรอ. ได้เตรียมมาตรการขับเคลื่อนหลักเกณฑ์ใหม่ ทั้งการประชาสัมพันธ์ อบรมสัมมนาถ่ายทอดความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ พัฒนาระบบสารสนเทศรองรับ การประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ โดย กรอ. จะหารือกับหน่วยงานที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับการรับรอง GI ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ทั้งด้านการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องจักร

รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงงานที่แจ้งประกอบการ จำนวน 62,979 โรงงาน ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 56,221 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 89 GI ระดับ 1 จำนวน 49,094 โรงงาน  GI ระดับ 2 จำนวน 3,155 โรงงาน GI ระดับ 3 จำนวน 3,450 โรงงาน GI ระดับ 4 จำนวน 454 โรงงาน และ GI ระดับ 5 จำนวน 68 โรงงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.67)


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.