เร่งเครื่องธุรกิจด้วยกลไกราคาคาร์บอน สู่การปรับตัวรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

11 ตุลาคม 2567
เร่งเครื่องธุรกิจด้วยกลไกราคาคาร์บอน สู่การปรับตัวรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ในโลกปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่อาจเพิกเฉย หลายประเทศได้นำกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ไม่ว่าจะในรูปแบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System : ETS) ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น 70 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกราว 12.8 GtCO2eq คิดเป็น 24% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยทั่วโลก และยังมีอีกหลายประเทศที่ยังอยู่ระหว่างวางแผนที่จะนำภาษีคาร์บอนหรือ ETS มาใช้

การนำกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมาใช้ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต โดยเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่จะสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการที่ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจและกายภาพ

นอกจากนั้น หากกลไกราคาคาร์บอนของไทยเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ก็น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้น จากการที่ผู้ส่งออกไทยสามารถนำภาษีคาร์บอนที่ชำระในประเทศไปหักออกจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคาร์บอนที่เกิดจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ได้ อาทิ EU CBAM ที่จะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569

ภายในปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพสามิตเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าน้ำมัน โดยจะเป็นการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่มีการจัดเก็บอยู่แล้วในปัจจุบันให้ผูกติดกับภาษีคาร์บอน เบื้องต้นคาดว่าอัตราภาษีจะอยู่ที่ 200 บาท/tCO2eq หรือราว 5 ดอลลาร์สหรัฐ/tCO2eq

โดยในระยะถัดไป 2-3 ปีข้างหน้า หาก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มบังคับใช้ อาจขยายการเก็บภาษีคาร์บอนไปยังการผลิตต้นน้ำต่าง ๆ และขึ้นราคาคาร์บอนเพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการนำระบบ ETS มาใช้

Krungthai COMPASS ประเมินในเบื้องต้นว่า ภาษีคาร์บอนในระยะแรกของไทยมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากมาตรการ EU CBAM คิดเป็นเพียง 0.5-0.8% ของค่าใช้จ่าย CBAM Certification ในกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการเหล็กแท่ง (Slab) และเหล็กรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) ที่อาจมีค่าใช้จ่าย CBAM Certification อยู่ที่ 3.6-5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจนว่าผู้ส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EU CBAM จะสามารถนำค่าใช้จ่ายภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นในไทยไปหักออกจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้หรือไม่

ทั้งนี้ สัดส่วนภาษีคาร์บอนของไทยกับค่าใช้จ่าย CBAM Certification ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่แตกต่างกันไปในแต่ละราย รวมถึงราคาคาร์บอนที่แตกต่างกันมากก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษีคาร์บอนของไทยมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย CBAM Certification จากการที่อัตราภาษีเริ่มต้นของไทยอยู่ที่ 200 บาท/tCO2eq หรือราว 5 ดอลลาร์สหรัฐ/tCO2eq

ขณะที่ราคาคาร์บอนใน EU ETS ในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 100 ยูโร/tCO2eq หรือราว 105 ดอลลาร์สหรัฐ/tCO2eq ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีของไทยถึง 19 เท่า นั่นหมายความว่าในอนาคตไทยอาจต้องปรับอัตราภาษีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสากล

หาก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มบังคับใช้ กลไกราคาคาร์บอนของไทยมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ๆ เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง การผลิต และการก่อสร้าง การเตรียมความพร้อมของธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการควรเร่งจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งต้องติดตามมาตรการสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการจากประเทศคู่ค้าที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย

ด้านภาครัฐเองควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันควรกำหนดนโยบายราคาคาร์บอนให้สอดคล้องกับต่างประเทศ ทั้งในแง่ของมาตรฐานและกรอบเวลา เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง พร้อมกันนั้นยังต้องพัฒนาระบบติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.