จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเหล็กขาดตลาดในประเทศไทย จนทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างสะดุด
ต่อเรื่องดังกล่าวนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ขาดตลาดทั้งหมด จะมีปัญหาก็แค่เหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อย แต่ก็ถือว่าไม่ได้ขาดตลาด
โดยมีสาเหตุมาจากโรงงานเหล็กที่เป็นกระบวนการผลิตเหล็กที่ใช้เตาหลอมที่ใช้ความร้อนจากการเหนียวนำไฟฟ้าในการหลอม หรือเตา IF (Induction Furnace process) ในประเทศถูกปิดไปหลายโรงานจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก.
ทั้งนี้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องไปสั่งซื้อเหล็กจากโรงใหม่ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการรอสินค้า หรือเรียกว่าต้องต่อคิว
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงปรับตัว เนื่องจากโรงงานผลิตเหล็กแบบ IF ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบของทีมตรวจการณ์กระทรวงอุตสาหกรรม
“ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นการปรับตัวชั่วคราวของโรงงานเหล็กที่ยังเปิดกิจการอยู่ โดยต้องเรียนว่าโรงงานผลิตแบบเตา IF ที่ผลิตได้ตามมาตรฐานก็มีบ้าง ส่วนโรงงานผลิตแบบเหล็กที่ผ่านกระบวนการหลอมด้วย Electric arc furnace (EF) ก็มีในไทย และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพียงแต่จะต้องเพิ่มเรื่องจำนวนคนงานให้มากกว่าที่มีอยู่ และต้องมีเวลาปรับตัว“
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ซื้อ หรือผู้รับเหมาสะท้อนออกมาน่าจะเป็นเรื่องของราคาที่เพิ่มสูงขึ้น จากการซื้อผลิตภัณฑ์จากเตา IF ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่อาจจะควบคุมคุณภาพได้ไม่ดีพอ หรือถูกดำเนินคดีอยู่จากการโกงภาษีมูลเพิ่ม เป็นต้น
”ผู้ซื้อหรือผู้รับเหมาน่าจะบ่นเรื่องราคาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หากจะให้มาขายเท่ากับราคาที่ผลิตจากเตา IF ก็คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากคุณภาพไม่เท่ากัน“
นายนาวา กล่าวอีกว่า ในระยะกลางเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะมีกำลังการผลิตที่ล้นเหลือ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเท่านั้น โดยได้มีการเน้นย้ำกับสมาชิกอุตสาหกรรมเหล็กของ ส.อ.ท. ที่ยังเปิดกิจการ ซึ่งมีทั้งกระบวนการผลิตแบบเตา IF ที่ผลิตได้คุณภาพตามมาตรฐานและเตา EF ดูแลเรื่องการความต้องการของตลาด (Suppy) ให้เพียงพอ
”มั่นใจว่าในระยะกลางเหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อยจะไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน เพีนงแต่ในระยะสั้นนี้อุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือรับเหมาอาจจะมีปัญหาบ้าง เนื่องจากบางรายอาจจะไปตกลงราคาด้วยการใช้เหล็ก IF แต่เมื่อต้องเปลี่ยนมาใช้เหล็กแบบ EF ซึ่งราคาสูงกว่า ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดียิ่งทำให้ลำบากมากขึ้น“
นายนาวา กล่าวอีกว่า เข้าใจและเห็นใจผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือผู้รับเหมา แต่ก็ต้องยึดเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานเป็นหลักเป็นลำดับแรก
อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หากฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินความเป็นจริงก็จะถูกควบคุมมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการย้ำเตือนกับสมาชิกโดยตลอด