ไทยจ่อรื้อโครงสร้างภาษี วัดใจ “ทรัมป์’ แลกเบรกภาษีต่างตอบแทน

25 มีนาคม 2568
ไทยจ่อรื้อโครงสร้างภาษี วัดใจ “ทรัมป์’ แลกเบรกภาษีต่างตอบแทน

กางแผนรับมือสหรัฐ ใช้ภาษีต่างตอบแทน แย้มพาณิชย์เตรียมต่อรอง เสนอรื้อโครงสร้างภาษีนำเข้า ซื้อเครื่องบิน ถั่วเหลือง อเมริกาเพิ่ม หอฯเผยพร้อมหงายไพ่ทุกใบเมื่อเจรจา

สงครามการค้าสหรัฐกับคู่ค้าทั่วโลก ที่อ้างเหตุผลเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ ที่เริ่มลุกลามขยายวงของผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐยุค “ทรัมป์ 2.0” โดยล่าสุดสหรัฐเตรียมบังคับใช้นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทน หรือภาษีเท่าเทียมกับประเทศคู่ค้าทั่วโลกในวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยที่พึ่งพาสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 อย่างหลีกเลี่ยงได้

กางแผนไทยเตรียมถกสหรัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนรับมือสหรัฐที่จะมีการขึ้นภาษีศุลกากรตามมาตรการภาษีตอบโต้ ในวันที่ 2 เม.ย. 2568 โดยให้ประเมินความเสี่ยงทั้งหมดอย่างรอบด้าน พร้อมกับมาตรการรับมือหากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสินค้านำเข้า และการซื้อสินค้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน ถั่วเหลือง ข้าวโพด เพื่อลดการเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐฯ

ที่ผ่านมานายพิชัยได้นำแผนการรับมือการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์หารือกับภาคเอกชนแล้ว และทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกับแผนดังกล่าวแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะต้องรอดูการประกาศของสหรัฐฯในวันที่ 2 เม.ย. 2568 ก่อนว่าจะมีผลกระทบกับไทยอย่างไร

หอการค้าแย้มหมัดเด็ด

สอดคล้องกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เผยว่า การเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราเดียวกับที่ประเทศอื่นเรียกเก็บจากสหรัฐ หรือที่เรียกว่าภาษีเท่าเทียมนั้นจะกระทบกับการส่งออกของไทย และการส่งออกของประเทศต่างๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐมากน้อยแตกต่างกันไปตามอัตราภาษีที่ทั้งสองฝ่ายเรียกเก็บต่อกัน

ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบ ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีหารือและวางแผนร่วมกับภาคเอกชนในการเจรจาเชิงรุกเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐให้เป็นที่พอใจ และมีผลในการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทยเอาไว้แล้ว

โดยแนวทางการส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในหมวดวัตถุดิบอาหารสัตว์ พืชและผลิตภัณธ์จากพืช เป็นต้น ซึ่งในรายละเอียดของแผนทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในเวลานี้ แต่จะมีการเปิดเผยในรายละเอียดหรือมีการหงายไพ่ทั้งหมดของไทย ต่อเมื่อมีการนัดหมายและเข้าไปเจรจากับทางสหรัฐที่อยู่ระหว่างการประสานงานเรื่องวัน เวลาแล้ว

“ตอนนี้เราไม่ควรจะยื่นในลักษณะเปิดไพ่ให้เขาทราบก่อน แต่ได้มีการหารือระหว่างภาครัฐ และเอกชนไทยแล้วว่าอันไหนเรารับได้ ไม่ได้ อย่างไร เหมือนเป็นการเก็งข้อสอบเขาเหมือนกัน”

แนะศึกษา 3 กลุ่มเจรจาต่อรองมะกัน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การเตรียมบังคับใช้นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐกับคู่ค้าทั่วโลก และเปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรองถือเป็นพัฒนาการจากเทรดวอร์เป็นเทรดดีล ซึ่งแต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเจรจา ในเรื่องนี้ไทยควรต้องศึกษาผลการเจรจาหรือวิธีการเจรจาของประเทศต่างๆ กับสหรัฐเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเจรจาต่อรองระหว่างไทย-สหรัฐ

โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก ประเทศที่สหรัฐขึ้นภาษีและมีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ จีน เม็กซิโก และแคนาดา

กลุ่มที่สอง ประเทศที่กำลังมีการเจรจากับสหรัฐ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) และอินเดีย

กลุ่มที่สาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่ถูกขึ้นภาษี โดยให้เข้าไปดูว่าเขามีท่าทีและมีแนวทางในการเจรจาต่องรองกับสหรัฐอย่างไร เพื่อนำมาประยุกต์สำหรับไทย

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นการขึ้นภาษีเท่าเทียมของสหรัฐจะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยไปสหรัฐอย่างแน่นอน เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยไปสหรัฐ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากไทย

“สินค้าที่ไทยถูกสหรัฐขึ้นภาษี 25% ไปแล้วก่อนหน้านี้ คือสินค้าเหล็ก (ขึ้นไปเมื่อปี 2561) ซึ่งล่าสุดสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียมจากทุกประเทศในอัตรา 25% มีผลตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 จึงกระทบทางตรงต่อการส่งออกสินค้าเหล็กของไทยไปสหรัฐไม่มาก

แต่ผลกระทบทางอ้อมจะมีมากขึ้นจากสินค้าเหล็กจีน และเหล็กจากประเทศต่างๆ ที่ไปสหรัฐได้ลดลงจะทะลักมาไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยน่าจะศึกษาการใช้มาตรการกำกับดูแลการนำเข้าเหล็กของประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน อินเดียว่าเขาทำอย่างไรถึงได้ผล เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในของไทย”

ขึ้นราคาผลักภาระผู้บริโภค

นายประมุข เจิดพงศาธร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PJUS GROUP ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าอาหารไทยป้อนให้กับตัวแทนจำหน่าย รวมถึงห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในสหรัฐ กล่าวว่า ทางกลุ่มยังเฝ้าติดตามการบังคับใช้นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐในครั้งนี้ ว่าไทยจะสามารถเจรจาต่อรองได้มากน้อยเพียงใด และจะมีผลทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากไทยไปจำหน่ายในสหรัฐมีต้นทุนที่สูงขึ้นหรือไม่ อย่างไร หากมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาษีทางกลุ่มก็จะขอปรับราคาสินค้า และผลักภาระไปยังผู้บริโภค

“สินค้าที่เราจะรุกหนักในปีนี้ในตลาดสหรัฐคือ ข้าวหอมมะลิ และผลไม้อบแห้ง ในแบรนด์ QUEEN ELEPHANT ที่สร้างขึ้นมาเอง และกำลังติดตลาดในสหรัฐ ซึ่งเราได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส จัดโปรโมตสินค้าต่อเนื่อง”

ส่งออก SMEs 2.6 แสนล้านระส่ำด้าน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เผยว่า ในปี 2567 เอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วนการส่งออกทางตรงไปยังสหรัฐฯ 14% หรือคิดเป็นมูลค่า 267,461 ล้านบาท และนำเข้าจากสหรัฐฯ 14% หรือคิดเป็นมูลค่า 91,026 ล้านบาท แต่ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่เป็นซัพพลายเชนให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ เช่นกัน

อ่านต่อได้ที่ : https://www.thansettakij.com/economy/trade-agriculture/622375


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.