เศรษฐกิจครึ่งปีหลังไร้ปัจจัยลบ สศอ.ฟันธงภาคผลิตอุตฯโตต่อเนื่องดันจีดีพีขยายตัว 2.5%

02 สิงหาคม 2559
เศรษฐกิจครึ่งปีหลังไร้ปัจจัยลบ สศอ.ฟันธงภาคผลิตอุตฯโตต่อเนื่องดันจีดีพีขยายตัว 2.5%

สศอ.ชี้ภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังสดใส ไร้ปัจจัยฉุดการฟื้นตัว หลังเห็นสัญญาณดีต่อเนื่องจาก 6 เดือนแรก ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง คาดทั้งปีอัตราใช้กำลังผลิตจะเข้าสู่ภาวะปกติที่ 70% ดึงจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 1.5-2.5% เผย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญรถยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็กและอาหาร ล้วนมีกำลังผลิตเพิ่ม

วีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่า จากการสะท้อนของภาคการผลิตอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาพบว่า มีสัญญาการฟื้นตัวค่อนข้างดี เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนและการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัวลดลงจากช่วงไตรมาสแรกติดลบอยู่ที่ 12 % และไตรมาส 2 ติดลบอยู่ที่ 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจที่จะสั่งสินค้ามาผลิตและลงทุนในเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็หดตัวลดลง จากเดือนเมษายน ติดลบที่ 8.2% พฤษภาคม ติดลบ 5.2 % และมิถุนายนติดลบ 1.3% จึงส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ปรับตัวอยู่ที่ 66.6% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งปี 2558 อยู่ที่ 65.8 % โดยส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอในช่วงครึ่งปีขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.2% ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกติดลบที่ 1% และช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นบวกที่ 1.5%

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางสศอ.จึงมีความมั่นใจในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไป ตัวเลขเอ็มพีไอจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และคาดว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ระดับ 1-2 % จากปีก่อนขยายตัวเพียง 0.34 % เท่านั้น และคาดว่าจะทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ในระดับ 70 % ที่ถือเป็นระดับปกติได้ โดยจะส่งผลให้การขยายตัวหรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 2.5-3.5 % ได้ จากที่ปีก่อนขายตัวไม่ถึง 1%

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่ สศอ.ประเมินแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นนั้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยลบที่จะมาเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเกิดผล อีกทั้ง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการภาครัฐต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐก็เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเห็นได้จากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การผลิตเพิ่มขึ้นถึง 2.6 % จากการบริโภคและจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 25.81 % ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นตาม สะท้อนได้จากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นถึง 18.49%

อย่างไรก็ตาม จะปัจจัยที่ยังเป็นห่วง คงจะมีเพียงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่เป็นผลจากการลงประชามติของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป อาจจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะไปซ้ำเติมกับการส่งออกของประเทศที่มีปัญหาอยู่แล้ว เท่านั้น ซึ่งหากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลในส่วนนี้ได้ดี ก็จะส่งผลกระทบมากนัก

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่คาดว่าทั้งปีจะผลิตได้ที่ 2 ล้านคัน เพิ่มจากปีก่อน 4.59 % เป็นการผลิตจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12.55 % ผลิตเพื่อส่งออก 1.1 ล้านคัน ลดลง 8.71 % อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.79 % โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.87 % มาจากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.29 % อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กล้า คาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.8-5.7 % มาอยู่ที่ระดับ 17.3-17.6 ล้านตัน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.05 % ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ สอดคล้องกับการจำหน่ายภายในประเทศที่ขยายตัว และอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและส่งออกจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 0-5 % และ 0-3 % ตามลำดับ

ทั้งภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวสอดรับกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสำรวจโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 99.8% เพิ่มขึ้นจากเมื่อพฤษภาคม ที่ผ่านมา


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.