ทำไม? “ราคาเหล็กพุ่ง”

09 มิถุนายน 2564
ทำไม? “ราคาเหล็กพุ่ง”

          จากที่เวลานี้ราคาเหล็กทั้งในและต่างประเทศขยับสูงขึ้นมาก ซึ่งสาเหตุเหล็กแพงมาจากอะไรนั้น ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ดังนี้

          "เหล็ก” เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งไทยยังไม่มีการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กต้นนํ้า ทำให้ต้องนำเข้าเหล็กต้นนํ้า 100% และขณะนี้ราคาเหล็กสูงขึ้นมาก

ปัจจุบัน จีน เป็น เบอร์หนึ่งของโลกทั้งในแง่การผลิตและการส่งออกเหล็ก โดยจีนผลิต 70% ตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มณฑลเหอเป่ย (Hebei) อยู่ทางตอนเหนือติดกับกรุงปักกิ่งและมณฑลซานตง ถือได้ว่าเป็น “เมืองหลวงเหล็กของจีน” มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 ตันต่อปี  

          ตลาดส่งออกหลักของจีนอยู่ที่อาเซียน (สัดส่วน 33% ของการส่งออกเหล็กจีน) เพราะความต้องการเหล็กอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 30 ล้านตันในปี 2553 เป็น 78 ล้านตันในปี 2559 และ 80 ล้านตันในปี 2562 (SEAISI) แต่โควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลงเหลือ 79 ล้านตันในปี 2563 และหลังวันที่ 23 มี.ค. 2561 ที่สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีเหล็กจากจีน 25% ทำให้เหล็กจีนไม่สามารถขายให้สหรัฐฯ ได้ ก็ต้องส่งไปอาเซียน โดยมี เวียดนามเป็นตลาดอันดับหนึ่งของจีน

ทั้งนี้ มี “6 ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กจีนผลิตยึดตลาดโลก” คือ

          1. เป็นอุตสาหกรรมหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 (1953-1957)

          2.การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนก้าวกระโดดทำให้มีความต้องการเหล็กเพิ่ม 

          3.นโยบายการสร้างเมือง (Urbanization) 

          4.การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีนตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2001 เป็นแรงส่งให้เหล็กจีนไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอีก

          5. บริษัทผลิตเหล็กส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และ

          6.เหล็กจีนมีราคาถูก 

          ข้อมูลของ “Steelbenchmarker” รายงานว่าราคาเหล็กของจีนทุกประเภท เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน และเหล็กแผ่น “ถูกกว่าราคาเหล็กสหรัฐฯ 50%” ในขณะที่ “เวียดนามเป็นเบอร์หนึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของอาเซียน” ปี 2561 เวียดนามผลิตเหล็ก 14.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) และคาดว่าผลิต 66 ล้านตันในปี 2578  การผลิตเหล็กเวียดนามเพิ่มสูงเพราะเวียดนามมีนโยบายให้มี “การผลิตเหล็กต้นนํ้า”  

          สำหรับอาเซียน สามารถผลิตเหล็กได้เพียงปีละ 42 ล้านตัน (2561) ในขณะที่ความต้องการปีละ 80 ล้านตัน เลยต้องนำเข้าจากเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้นทุกปี

          หันมาดูสถานการณ์ราคาเหล็กโลกกันบ้าง “ราคาเหล็กในประเทศจีน” เพิ่มขึ้นทุกชนิด เดือนเมษายน ปี 2563 กับ 2564 ราคาแผ่นรีดร้อน (Hot Roll Coil : HRC) เพิ่มขึ้น 84% (จาก 462 เป็น 851 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ) และแผ่นรีดเย็น (Cool Roll Coil : CRC) เพิ่มขึ้น 74% (จาก 529 เป็น 922 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ในขณะที่เหล็กเส้น (Rebar) เพิ่มขึ้น 55% (จาก 485 เป็น 751 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) และเหล็กแท่งยาว (Billet) เพิ่มขึ้น 80% (จาก 432 เป็น 777 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) และเหล็กลวดเพิ่มขึ้น 73% (จาก 471 เป็น 814 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) 

          ในขณะที่ “ราคาเหล็กในประเทศไทย” พบว่า

  • ราคาเศษเหล็ก (Scrap) เพิ่มขึ้น 97% (จาก 7,500 เป็น 14,775 บาท/ตัน)

  • ราคาเหล็กเส้นเพิ่มขึ้น 66% (15,358 เป็น 25,494 บาท/ตัน) และ

  • ราคาเหล็กแผ่นรีดเย็นเพิ่มขึ้น 77% (จาก 21,500 เป็น 38,055 บาท/ตัน)    

          “7 ปัจจัย” ที่ทำให้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น คือ 

          1.ดัชนีเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน ทั้งดัชนีความเชื่อมั่น  (confidence Index) ดัชนีการลงทุน  (capital expenditure index) ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้า (order index) และดัชนีการจ้างงาน (employment index) ก็ปรับขึ้นใน Q1/2021 

          2.เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วฟื้น ใน Q1/2021 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จากเดิมที่ติดลบใน Q4/2020  เศรษฐกิจจีนขยายตัว 18.3% จาก Q4/2020 ที่ขยายตัว 6.5% และสหรัฐฯ ขยายตัว 6.4% จากที่ขยายตัว 4.3% ใน Q4/20

          3. ยอดขายรถใหม่เพิ่มขึ้น ในตลาดยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย โดยเฉพาะจีนเพิ่มขึ้น 76% รวมไปถึงยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น เช่นกัน 

          4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน โดยสหรัฐฯ จำนวน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 506 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

          5.ดัชนีก่อสร้างโลกฟื้นตัวทุกประเทศ (Global Construction Activity Index) เป็น +14 ใน Q1/2021 เพิ่มจาก +3 ใน Q4/2020  “CO2 Impact” อุตสาหกรรมเหล็กจีนปล่อย CO2 มากที่สุด ปีละ 1,500 ล้านตัน (ปี 2020) สัดส่วน 20% รองจากอุตสาหกรรมพลังงงาน โดย 1 ตันของ CO2 มีความสูง 10 เมตรและมีปริมาตร 556 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง 1 ลูกบาศก์เมตร = 1,000 ลิตร ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กต้องลดกำลังการผลิต ปี 2560 จีนผลิตเหล็กรวม 850 ล้านตัน (เป็น 50% ของโลก จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 30%) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 33 ล้านตัน ปี 2561 ผลิต 886 ล้านตัน ความต้องการใช้ภายในประเทศ  810 ล้านตัน  

          6.รัฐบาลจีนต้องการลดกำลังการผลิตเหล็กเพราะถูกกดดันจากนานาประเทศด้วย 2 เหตุผล คือผลิตเหล็กราคาถูกมาทุ่มตลาด และ 2.ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าลดลงปีละ 150 ล้านตัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จีนจึงทำ 2 เรื่องคือย้ายฐานการผลิตเหล็กเข้าไปอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม 2.เมืองถังชาน (Tangshan) “เมืองหลวงเหล็กของจีน” ห่างจากปักกิ่ง 200 กิโลเมตร อยู่ทางตอนเหนือของเหอเป่ย ลดกำลังการผลิต 30-50% (ผลิตปีละ 114 ล้านตัน) ใน 23 โรงงานถลุงเหล็กของปี 2021 เพราะจีนมีพันธะสัญญาว่า CO2 เป็นศูนย์ในปี 2060 ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปเป้าหมายในปี 2050 และ

          7.ข้อพิพาทการค้าจีนกับออสเตรเลีย จีนพึ่งแร่เหล็ก (Iron Ore) จากออสเตรเลีย 60% ราคาปรับขึ้น 114% (จากเมษายน 2563 อยู่ที่ 84 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในเมษายน 2564) ทั้ง 7 ปัจจัยจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาทั้งไทยและโลกปรับตัวสูงขึ้น 

          หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564


อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3zKMKoV





แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.