"กอช." เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน

05 กันยายน 2565
"กอช." เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน

"กอช." เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน

กอช. เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน มุ่งบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 มีการพิจารณา 4 เรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการผลิตเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมีทิศทางที่สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศในทุกระดับ รวมทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็วภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างรอบด้าน ครอบคลุม ตลอดห่วงโซ่มูลค่าในทุกมิติ โดยที่ประชุม กอช. ได้มีมติเห็นชอบใน 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้

  1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570)

สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570)   

โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ                                                                                                                                                                   

กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

สร้างและพัฒนา Eco System สําหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) และมอบหมายให้ อก. นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)/ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

  1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570)

สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566- 2570) โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรม  แห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN)  ภายใน 5 ปี ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่

สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง

ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์

ส่งเสริมด้านการตลาด

สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ

โดยแบ่งการดําเนินการเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะ 1 ปี : เร่งสร้าง Enabling และความมั่นคงทางวัตถุดิบ 2. ระยะ 3 ปี : ยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กัญชง และ 3. ระยะ 5 ปี : สนับสนุนการผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ระยะ 5 ปี

ที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายให้ อก. นํา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอ สศช./ ครม. เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

  1. การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น คือ

พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ กรอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี พ.ศ. 2566-2570   ซึ่งเป็นแผนระดับ 3 ด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย ภายใต้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 กระทรวง

  1. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แก้ไขปัญหาการกระทําผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินช่วยเหลือ อุดหนุนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการเกิดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี พ.ศ. 2566-2570 และแนวทางการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

4.กลไกขับเคลื่อนการดําเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ

สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนการดําเนินงานของ กอช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อก. จึงเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้ กอช. เพื่อทําหน้าที่กําหนดกรอบและแนวทางการดําเนินงาน จัดทําและเสนอแนะนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรค รวมทั้งประสานและบูรณาการการดําเนินงานในประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อ กอช. เป็นระยะ ตามความเหมาะสม ประกอบด้วย 3 กลไกสำคัญ ดังนี้

คณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทน อว./ ผู้แทน พณ. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จํานวน 21 หน่วยงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการ

คณะอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยั่งยืน มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทน ทส./ ผู้แทน มท. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จํานวน 21 หน่วยงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการ

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และการอํานวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับมอบหมาย และรองปลัดกระทรวงการคลัง (กลุ่มภารกิจด้านรายได้) เป็นรองประธาน ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทน พณ./ ผู้อํานวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จํานวน 18 หน่วยงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการ        

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. อนุมัติการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบและอํานาจหน้าที่ตามที่เสนอ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในระยะต่อไปที่ชัดเจน ครอบคลุมและรอบด้าน สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรมสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงต่อไป


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.