GDP ไทยไตรมาส 1/66 โต 2.7% สศช.ยันไม่ถดถอย คงทั้งปี 2.7-3.7%

15 พฤษภาคม 2566
GDP ไทยไตรมาส 1/66 โต 2.7% สศช.ยันไม่ถดถอย คงทั้งปี 2.7-3.7%

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 2566 GDP โต 2.7% บริโภค-ท่องเที่ยวพระเอก ยันไม่ถดถอย หรือ Recession ส่วนทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%

          วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) เวลา 9.30 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งขยายตัว 1.4%

          ทั้งนี้เป็นผลมาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจขยายตัว การบริโภคภาคเอกชน 5.4% ถือว่าเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุนรวมขยายตัว 3.1% ส่วนการส่งออกบริการ 87.8% เป็นผลจากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้ายังติดลบ 6.4% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะชอตัว

          “ความกังวลเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ของไทยไม่ได้เกิดขึ้น เหมือนที่มีการกังวลก่อนหน้านี้ เพราะแนวโน้มในอนาคตเศรษฐกิจก็กำลังขยายตัวไปได้ด้วยดี” นายดนุชา ระบุ

          สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยมีรายละเอียดแยกเป้นด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

          การส่งออกบริการ และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.4% ต่อเนื่องจาก 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการใช้จ่ายในหมวดบริการสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการกลับมาขยายตัวของการใช้จ่ายใน          
          หมวดสินค้าคงทน

           การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลง 6.2% ต่อเนื่องจากการลดลง 7.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 40.4% ส่วนค่าซื้อสินค้าและบริการ และค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัว 1% และ 1.8% ตามลำดับ สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 23.7% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 33.9% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 20.3% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

          การลงทุนรวม ขยายตัว 3.1% ชะลอลงจาก 3.9% ในไตรมาสก่อนหน้า แบ่งเป็น

          การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจาก 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือและหมวดก่อสร้างขยายตัว 2.8% และ 1.1% ชะลอลงจาก 5.1% และ 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ

          การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4.7% เร่งขึ้นจาก 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัว 6.9% และ 1.8% ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 16.7% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 18.8% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 16.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)

          การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 69,806 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ลดลง 4.6% เทียบกับการลดลง 7.5% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยปริมาณส่งออกลดลง 6.4% ต่อเนื่องจากการลดลง 10.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 2% ต่อเนื่องจาก 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า

          ด้านการผลิต

          สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัว 7.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

          สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 34.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 30.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยในไตรมาสนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 6.478 ล้านคน

          สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ที่ 3.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการ ด้านการท่องเที่ยว และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

          สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 3.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 5% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกและกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วง 30 - 60% ขยายตัว

          เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

          อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.05% ต่ำกว่า 1.15% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 1.53% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% เทียบกับ 5.8% และ 3.2% ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ

          สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 13.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505.5 ล้านบาท คิดเป็น 61.2% ของ GDP

          เศรษฐกิจไทยในปี 2566

          สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้

          การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

          การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ

          การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

          ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สหรัฐฯ ลดลง 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP

 

 


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.