ส่องศักยภาพไทย นำไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้า ความหวังใหม่ลดคาร์บอน

06 พฤษภาคม 2568
ส่องศักยภาพไทย นำไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้า ความหวังใหม่ลดคาร์บอน

ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจ โดยแหล่งผลิตไฮโดรเจนที่สำคัญมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ จากสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประเภทถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ชีวมวล (Biomass) และการผลิตจากนํ้า

เทคโนโลยีที่นิยมและแพร่หลายในปัจจุบันมี 3 เทคโนโลยี ดังนี้

1.เทคโนโลยี Gasification SMR ในการผลิตโฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติ โดยในกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งไฮโดรเจนที่ได้ คือ Gray Hydrogen

2.เทคโนโลยี Gasification SMR ที่มีการดักจับกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) ซึ่งไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะเรียกว่า Blue Hydrogen

  1. เทคโนโลยี Electrolysis เป็นการผลิตไฮโดรเจนโดยการใช้ไฟฟ้าแยกไฮโดรเจนจากนํ้า ซึ่งไฮโดรเจนที่ได้ คือ Green Hydrogen

หลังจากผลิตไฮโดรเจนได้แล้ว จะจัดเก็บในรูปของไฮโดรเจนเหลว หรือจัดเก็บในรูปของแอมโมเนีย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแบตเตอรี่ โดยสามารถเก็บไว้ได้นานและมีคุณภาพและค่าพลังงานที่ดีกว่าตัวแบตเตอรี่ โดยในอนาคต Gray Hydrogen Blue Hydrogen และ Green Hydrogen จะมีแนวโน้มของราคาที่ลดลงกว่าปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยมีความเป็นไปได้ของการนำไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและในภาคการขนส่ง เป็นเชื้อเพลิงความร้อนในภาคอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ประโยชน์เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการศึกษาศักยภาพของการผลิตไฮโดรเจนในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในประเทศไทย หากนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็น Gray Hydrogen ในช่วงปี 2569-2593 จะมีศักยภาพของไฮโดรเจนประมาณ 6.22-23.92 ล้านตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ

หากผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็น Blue Hydrogenโดยใช้ เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนจะมีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนจำนวน 5.87-22.62 ล้านตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ ส่วนการผลิต Green Hydrogen จากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนในปี 2564 พบว่า มีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนจำนวน 97 ล้านตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ โดยพลังงานไฟฟ้าที่นำมาผลิต Green Hydrogen จะผลิตได้จากโซลาร์เซลล์และพลังงานลม เป็นหลัก

ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สามารถนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าผสมกับก๊าซธรรมชาติได้ โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือร่างแผน PDP 2024 ได้กำหนดให้มีการผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 5 % โดยปริมาตรคิดเป็นไฮโดรเจนได้ประมาณ 130-140 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2573

ทั้งนี้ จากการคำนวณราคาค่าไฟฟ้า หากมีการผสมไฮโดรเจนในสัดส่วน 5% ตามร่างแผน PDP ดังกล่าว ค่าไฟฟ้ายังไม่เกิน 4 บาท ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม การจะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและความพร้อมของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และลม จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาผลิตเป็นไฮโดรเจน และนำไฮโดรเจนมาผลิตเป็นไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ไม่ได้หวังผลในการช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากยังมีต้นทุนที่สูง แต่อาจจะเป็นประโยชน์ในการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์ตามทิศทางของโลกยุคปัจจุบันที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ดังนั้น การส่งเสริมเพื่อนำไฮโดรเจน มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานไม่ว่า จะเป็นการพัฒนาตลาดและการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ไฮโดรเจน ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้เชื้อเพลิงความร้อน และกลุ่มภาคการขนส่ง ซึ่งในการส่งเสริมในระยะสั้นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งช่วงปัจจุบันจนถึงปี 2573 จะเป็นในลักษณะของการพัฒนาโครงการนำร่อง ส่วนในระยะกลางและระยะยาวภาครัฐควรมีการอุดหนุนด้านราคาหรือการให้แหล่งเงินทุนและมาตรการทางภาษี เป็นต้น

การส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งในระยะสั้นจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น และนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงแรกของการส่งเสริมจะเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมและการปรับตัว เช่น การวางระบบท่อ การกักเก็บและขนส่ง

การพัฒนาสถานี และมาตรการด้านการพัฒนากฎ ระเบียบและมาตรฐาน เช่น การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตและการใช้ มาตรฐานคุณภาพก๊าซธรรมชาติ การจัดเก็บ การขนส่ง เป็นต้น


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.