ผู้ส่งออกจีนชูจุดขายใหม่ คาร์บอนต่ำ-ผลิตในเวียดนาม

14 พฤษภาคม 2566
ผู้ส่งออกจีนชูจุดขายใหม่ คาร์บอนต่ำ-ผลิตในเวียดนาม

          เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว และความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ สร้างความอ่อนแอให้กับภาคการส่งออกของจีน ทำให้ผู้ส่งออกจีนหลายรายต้องปรับกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์กับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการชูจุดขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการมีฐานผลิตนอกประเทศจีน

          เซาต์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “แคนตันแฟร์” (Canton Fair) มหกรรมจัดแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกที่นครกว่างโจวของจีน ระหว่างวันที่ 15 เม.ย.-5 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมงาน 2.9 ล้านคน ถือเป็นงานจัดแสดงสินค้าครั้งใหญ่ของจีน หลังจากต้องหยุดชะงักมานานถึง 3 ปี

          ภายในงานนี้ ผู้ส่งออกจีนมีการแนะนำสินค้านานาชนิด ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสิ่งทอ แต่ที่น่าสนใจคือสินค้าที่นำมาจัดแสดงจำนวนมาก มุ่งเน้นถึงคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่สนใจของลูกค้าต่างชาติ

          “ลุค หู” ผู้บริหารของ “หนิงป่อ วอนโทน สเตชันเนอรี” บริษัทผู้ผลิตเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน ระบุว่า “เราได้ลงนามคำสั่งซื้อมูลค่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในงานแคนตันแฟร์ ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดมาจากยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก”

          ทั้งนี้ หนิงป่อ วอนโทน สเตชันเนอรี เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้ากว่า 1,000 รายการ อาทิ ปากกาและกระเป๋าเครื่องเขียนจากพลาสติกชีวภาพและวัสดุรีไซเคิล โดยลุค หู ระบุว่า “ในปีที่แล้วบริษัทได้นำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลจากท้องทะเลถึง 200 ตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ตัน ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า”

          เช่นกันกับ “เรย์ จาง” ผู้จัดการฝ่ายขายของ “เซี่ยงไฮ้ นิวเวสต์ ลักเกจ” ผู้ผลิตกระเป๋าเดินทางน้ำหนักเบาที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนระหว่างการเดินทาง ระบุว่า “ความต้องการของลูกค้าในยุโรปในขณะนี้คือ การลดคาร์บอนเพื่ออนาคต”

          ขณะที่ผู้ส่งออกจีนบางรายดึงดูดลูกค้าด้วยจุดขายที่มีโรงงานในต่างประเทศ อย่าง “เหอเฉิง เอนเตอร์ไพรส์” ผู้ผลิตกระเป๋าที่เข้าร่วมในงานแคนตันแฟร์ ขึ้นป้ายว่า “โรงงานในเวียดนาม” ทั้งนี้ เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ปัจจุบันลูกค้าชาติตะวันตก ต้องการกระจายความเสี่ยงของฐานผลิตออกนอกประเทศจีน

          “เอเดน หลิง” ผู้จัดการฝ่ายขายของเหอเฉิง เอนเตอร์ไพรส์ ระบุว่า “ผู้ซื้อจากยุโรปอย่างโปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ แสดงความสนใจต่อโรงงานในเวียดนามของเราอย่างมาก เนื่องจากพวกเขากำลังต้องการกระจายแหล่งจัดซื้อ”

          ความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจทำให้ผู้ส่งออกจีนใช้กลยุทธ์ “จีนบวกหนึ่ง” (China plus one) และ “ในจีนสำหรับจีน” (in China, for China) โดยกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา หรือบังกลาเทศ

          บลูมเบิร์กรายงานว่า “จอห์นสัน หวัง” ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตสินค้าเครื่องใช้ในบ้านส่งออกไปสหรัฐระบุว่า ปัจจุบันป้ายแสดงที่มาของสินค้าจากเวียดนาม หรือเม็กซิโก ในร้านค้าปลีกของสหรัฐ อย่าง “วอลมาร์ต” หรือ “ดอลลาร์ทรี” กำลังเพิ่มจำนวนแทนที่ป้าย “เมดอินไชน่า” อย่างรวดเร็ว

          โดยข้อมูลการส่งออกของจีนในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ายอดส่งออกไปตลาดสหรัฐลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การส่งออกโดยรวมของจีนใน เม.ย. 2023 อยู่ที่ 295,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.5% จากปีก่อนหน้า

          ภาพรวมของงานแคนตันแฟร์ยังสะท้อนภาพการส่งออกที่อ่อนแอของจีน โดยมียอดธุรกรรมภายในงาน 21,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าปี 2019 ที่มียอดรวม 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และห่างไกลจากยอดในปี 2008 ที่มีการตกลงซื้อขายภายในงานสูงสุดถึง 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.