จ่อชง ครม.ใหม่ปูพรม FTA ติดปีกส่งออกไทย

17 พฤษภาคม 2566
จ่อชง ครม.ใหม่ปูพรม FTA ติดปีกส่งออกไทย

          กรมฯอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบ FTA กับคู่ค้าใหม่ ๆ และรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบครม. เพื่อพิจารณาเปิดเจรจา FTA กับประเทศใหม่ ๆภายในปี 2566

 ปี 2565 ล่าสุด การค้าระหว่างประเทศของไทย (ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่ารวม 590,259 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 20.59 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการค้ากับประเทศคู่สัญญาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของการค้าไทยกับโลก

          ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ส่งออกจี้ให้รัฐบาลเร่งเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับประเทศ / กลุ่มประเทศใหม่ เพื่อสร้างแต้มต่อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้าไทย “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าสถานะการเจรจา FTA ใหม่ ๆ ของไทย

          นางอรมน กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนในการเจรจา FTA ที่ต้องเดินหน้าก่อนที่ตนจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 มีหลายฉบับ ล่าสุดที่ประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าคือ การนับหนึ่งเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) หรือ FTA ไทย-สหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ในวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 โดยยูเออีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหรือสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2567

          ++ลุยถก 4 FTA เร่งสรุปผล

          ส่วน FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ที่ไทยทำในนามกลุ่มอาเซียน จะมีการนัดเจรจารอบที่ 5 ในเดือน มิ.ย.2566 คาดจะสรุปผลได้ภายใน 2 ปี เช่นเดียวกับ FTA ไทย-ศรีลังกา และ FTA อาเซียน-แคนาดากรมฯจะเร่งหาข้อสรุปการเจรจา ภายในครึ่งแรกปี 2567  ขณะที่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้นัดเจรจากับหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียูในเดือนกรกฎาคมนี้  เพื่อวางแผนปฏิทินการเจรจา และวางโครงสร้างรูปแบบการเจรจา  โดยจะเริ่มเจรจารอบแรกเดือนกันยายน 2566  ตั้งเป้าหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 2 ปี (2568)

          ++ดัน 4 FTAใหม่จ่อชง ครม.

          ขณะที่วาระเร่งด่วนในเรื่อง  FTA กรมฯอยู่ระหว่างมอบสถาบันวิจัยจากภายนอกศึกษาเรื่องประโยชน์ และผลกระทบการจัดทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ ๆ  เช่น อิสราเอล  ภูฏาน  กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (เปรู ชิลี เม็กซิโก โคลัมเบีย) และเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย  โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเปิดเจรจา FTA กับประเทศใหม่ ๆ ข้างต้นภายในปี 2566  รวมถึงการเจรจาทบทวนความตกลง FTA ที่มีความตกลงไปแล้ว

          ส่วน FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างการทบทวนความตกลง ณ ปัจจุบันมี 5 กรอบความตกลง ได้แก่ 1.อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ตั้งเป้าจบในปีนี้ 2.อาเซียน-จีน เป้าหมายจบปี 2567  3. ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เป้าหมายจบ ปี 2568 4.อาเซียน-อินเดีย อยู่ระหว่างหารือแผนการเจรจา และ 5.อาเซียน-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างศึกษา เพื่อเตรียมเปิดทบทวน

          ++คู่ค้ากีดกัน-เพิ่ม FTA ดูดลงทุน

          “มีบางประเทศคู่ค้าได้นำมาตรการที่เป็นอุปสรรค หรือกีดกันการค้ามาใช้ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือไม่มีเวลาให้ปรับตัว เช่น กำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า  ให้นำเข้าสินค้าได้เฉพาะบางท่าเรือ/ท่าอากาศยาน ที่กำหนดไว้เท่านั้น การนำเรื่องสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ มาเชื่อมโยงกับมาตรการทางการค้า หรือนโยบายการค้าที่ออกมาใหม่ เช่น มาตรการ CBAM  มาตรการ deforestation ของสหภาพยุโรป  ซึ่งกรมฯ ต้องหารือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และนำข้อมูลไปใช้เจรจากับประเทศคู่ค้าต่อไป”

          อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้องของไทย ต้องเร่งปรับตัว และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics)  การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ  การนำมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่มาใช้   และต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของไทยในหลาย ๆ ด้าน เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และเพื่อให้ไทยยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ  เช่น การจัดทำเอฟทีเอ ใหม่ๆ    การปฏิรูป/พัฒนากฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน   การพัฒนาศักยภาพแรงงาน  การเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับห่วงโซ่อุปทานหรือการผลิตโลก เป็นต้น

          ++เพิ่มค้า FTA 85%ไทยค้าโลก

          อย่างไรก็ดี นางอรมน ระบุว่า กรมเจรจาการค้าฯ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการค้าไทยกับประเทศคู่สัญญา FTA ทั้งเก่าและใหม่ เป็น 80-85% ในปี 2570 ของการค้ารวมที่ไทยค้ากับโลก จากปัจจุบัน FTA ที่ไทยมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60.9% ที่ไทยค้ากับทั่วโลกในปี 2565

          ขณะเดียวกันยัง FTA ที่กรมฯมีแผนจะทำในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการค้าดังกล่าวให้ได้ตามเป้าหมาย เช่น FTA ไทย-สหราชอาณาจักร(UK) ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก(ชิลี เปรู เม็กซิโก โคลัมเบีย) FTAไทย-กลุ่ม GCC (ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ คูเวต) ไทย-อิสราเอล ไทย-ภูฎาน  ไทย-กลุ่มประเทศแอฟริกาใต้(SACU) และไทย-เกาหลีใต้ เป็นต้น


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.