เศรษฐกิจโลกจ่อถดถอย เมื่อไร้ปาฏิหาริย์จากจีน

17 พฤษภาคม 2566
เศรษฐกิจโลกจ่อถดถอย เมื่อไร้ปาฏิหาริย์จากจีน

          เมื่อครั้งที่โลกตะวันตกประสบปัญหาทางการเงินระดับวิกฤตในปี 2008 หัวรถจักรที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของทั้งโลกขยายตัวต่อไปได้ เปิดโอกาสให้ชาติตะวันตกมีเวลาในการจัดการ “ทำความสะอาด” บ้านของตัวเองและกลับมาฟื้นตัวได้ในไม่ช้าไม่นานคือจีน

          จีนอาศัยโปรแกรมกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมาของตนทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเศรษฐกิจขยายตัวสูงจนสามารถชดเชยการชะลอตัวในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้ และในเวลาเดียวกันก็ทำให้ยักษ์ใหญ่ในเอเชียชาตินี้กลายเป็นเครื่องยนต์ที่ใหญ่ที่สุดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งโลกมานับตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงตอนนี้

          ยามนี้ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในสภาพโซซัดโซเซ จวนจะเข้าสู่สภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่ง ความคาดหวังในทำนองเดียวกันว่า เศรษฐกิจจีนจะพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วและก้าวรุดหน้าไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจของทั้งโลกให้เดินหน้าต่อไปได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

          แต่ในความเป็นจริง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้ ไม่เพียงไม่สม่ำเสมอ ยังขาดสมดุล และเต็มไปด้วยเงื่อนปมต่าง ๆ มากมายทั้งภายในและภายนอก

          หลายปัจจัยทำให้ยากอย่างยิ่งที่จีนจะสร้างปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ ผลักดันเศรษฐกิจของตนเองให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง จนสามารถเข้าอุ้มเศรษฐกิจของทั้งโลกให้รุดหน้าไปได้อีกครั้งหนึ่ง

          ดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนให้เห็นปัญหาเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

          การนำเข้าของจีนในเดือนเมษายน ลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 7.9% ขณะที่การส่งออกก็ขยายตัวในอัตราต่ำลงอย่างชัดเจน จาก 14.8% ในเดือนมีนาคมเหลือเพียง 8.5% เท่านั้นในเดือนเมษายน

          ในเดือนเดียวกัน การกู้ยืมใหม่จากธนาคารในเดือนเดียวกันยอดรวมอยู่ที่เพียง 718,800 ล้านหยวน ลดลงมาเหลือไม่ถึง 1 ใน 5 ของยอดกู้ยืมใหม่ในเดือนมีนาคมเท่านั้นเอง

          มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอดีต ส่งผลให้เกิดหนี้สินมหาศาลขึ้นตามมา เมื่อเดือนมีนาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า เฉพาะหนี้สินของรัฐบาลระดับมณฑลของจีนในเวลานี้ ก็มีมากถึง 66 ล้านล้านหยวน

          เทียบแล้วเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพีของจีนเลยทีเดียว

          สตีฟ ซ่าง ผู้อำนวยการสถาบันจีน สังกัดสำนักตะวันออกและแอฟริกาศึกษา ในกรุงลอนดอน ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจจีนยุบตัวครืน เพียงแต่การพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วในระดับเลขสองหลักเหมือนในทศวรรษ 2010 นั้น “เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว”

          ในห้วงเวลาเดียวกัน ปัญหาในทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เกิดขึ้นซ้ำเติมอย่างต่อเนื่อง ความพยายามวางตัวเป็นกลางและท่าทีที่เป็นมิตรต่อรัสเซียที่ส่งกองทัพมหาศาลบุกเข้ายึดครองยูเครน ก่อนลุกลามขยายตัวครอบคลุมไปถึงปัญหาไต้หวัน ยิ่งส่งผลให้เกิดท่าทีเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นระหว่างจีนกับชาติตะวันตกทั้งหลาย

          “พูชาน ดัตต์” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก INSEAD business school ในสิงคโปร์ ชี้ว่าประเด็นไต้หวัน หากเกิดสงครามขึ้นหรือแม้แต่หากเกิดความตึงเครียดทวีมากขึ้นก็จะกลายเป็นประเด็นใหญ่โตตามมา บริษัทข้ามชาติทั้งหลายจะแห่กันอพยพออกจากจีน ตลาดที่เคยรองรับสินค้าส่งออกจากจีนก็จะปิดสนิท การแซงก์ชั่นจีนจะเกิดขึ้นตามมา

          “คริสตีน ลาร์การ์ด” ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป ก็เตือนว่า เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะแตกตัวออกเป็นส่วน ๆ เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน ส่วนหนึ่งนำโดยจีนและอีกส่วนหนึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ

          ลาร์การ์ดเชื่อว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกก็สุ่มเสี่ยงจะเป็นอันตรายและภาวะเงินเฟ้อก็จะยิ่งพุ่งสูงและแรงยิ่งขึ้น

          อีกปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนไม่พุ่งแรงและรวดเร็วเหมือนก่อนหน้านี้นั้น เกิดจากนโยบายของจีนที่หันมาเน้นให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพ มากกว่าจะเป็นในเชิงปริมาณเหมือนที่ผ่านมา

          ดัตช์เชื่อว่าจีนพยายามเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นโรงงานผลิตสินค้าระดับโลว์เอนด์ ให้กลายเป็นผู้นำใน “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” อาทิ เอไอ, หุ่นยนต์หรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

          การเปลี่ยนแปลงจุดโฟกัสทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมหนักมาเป็นการพึ่งพานวัตกรรมและการบริโภคภายในประเทศ ย่อมก่อให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจขึ้นโดยธรรมชาติ

          สตีฟ ซ่าง ชี้ว่า แม้ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้แข็งแกร่ง สดใส เต็มไปด้วยพลวัตและนวัตกรรม แต่ในเวลาเดียวกัน สี จิ้นผิง เองก็กำหนดนโยบายที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

          เขาชี้ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จของ สี จิ้นผิง ทำให้ยากที่องคาพยพอื่น ๆ ของรัฐบาลจะปรับตัว ปฏิรูปตามความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจได้

          เท่ากับว่า “สี จิ้นผิง” เป็นตัวการดึงเศรษฐกิจจีนให้ถอยหลังกลับอยู่บ้างนั่นเอง


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.