ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คืออะไร ทำไมเอกชนมองว่าดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

29 พฤษภาคม 2566
ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คืออะไร ทำไมเอกชนมองว่าดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

          รู้จัก “ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ” คืออะไร ทำไมเอกชนจึงมองว่าดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ของบรรดาพรรคการเมืองที่หยิบยกมาใช้ในการหาเสียงโกยคะแนน ล่าสุดมีอัตราสูงแค่ไหนกับผู้ที่อยู่ในแต่ละอุตสาหกรรม

          การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ภายใน 100 วันแรก หนึ่งในนโยบายหลักในการหาเสียงของ พรรคก้าวไกล พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนอย่างมาก เพราะเป็นการปรับขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน 328 -354 บาทต่อวัน ถึง 30% จนทำให้เกิดการกระชากต้นทุนการผลิตอย่างรุนแรง

          ภาคเอกชนที่เป็นนายจ้างเห็นตรงกันว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของไทยในขณะนี้ควรนำนโยบายการจ่าย "ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" (Pay by Skill) ที่ปัจจุบันมีค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาใช้จะเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นค่าจ้างที่วัดจากระดับฝีมือ ความรู้ความสามารถของแรงงาน นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข

          ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คืออะไร?

          อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หมายถึง อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพ ในแต่ละสาขา และในแต่ละระดับตามมาตรฐานฝีมือ โดยมีข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่าง รวม 17 สาขา

          การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คน

          การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมืออยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ผลการพิจารณาจะนำไปสู่ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งเมื่อศึกษาและพิจารณาข้อมูลตามหลักเกณฑ์จะเห็นได้ว่า แต่ละสาขาอาชีพมีมาตรฐานฝีมือที่แตกต่างกัน

          ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมที่จะกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่แตกต่างกันตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพ ในแต่ละสาขา และในแต่ละระดับนั้น ๆ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับ ให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม

          ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีประโยชน์ยังไง

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีเป้าหมายเพื่อให้แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานฝีมือได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม จูงใจให้แรงงานพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ยอมรับ เพิ่มหลักประกันรายได้รวมทั้งเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

          อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นตามระดับทักษะ ทำให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จึงมีนัยที่แตกต่างกับค่าจ้างขั้นต่ำ ใกล้เคียงกับค่าจ้างเฉลี่ยของแรงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา และวิชาชีพชั้นสูง ที่มีค่าจ้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 12,228 บาทต่อเดือน 14,396 บาทต่อเดือน และ 15,624 บาทต่อเดือนตามลำดับ

          สศช.เห็นว่าการกำหนดให้ค่าจ้างตามทักษะ จะเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงาน และช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การสนับสนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมและทดสอบเพื่อ เพิ่มระดับทักษะในบางสาขา โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามระดับทักษะที่สูงขึ้น

          โดยทักษะที่ใช้ในการพัฒนาจะต้องมีความเฉพาะ สอดคล้อง และเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน รวมทั้งบูรณาการหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบสมรรถะแรงงานของแต่ละหน่วยงานที่มีการรับรองมาตรฐานทักษะแรงงานให้มีความเชื่อมโยงกับอัตราค่าจ้าง

          เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรภาคเอกชน อีกทั้งจะต้องเร่งส่งเสริมให้แรงงานให้ความสำคัญกับการทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้การปรับเพิ่มค่าจ้างที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐอาจต้องกระจายบทบาทการทดสอบไปสู่ภาคีเครือข่ายหรือภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การจัดสอบมีความเพียงพอและการสนับสนุนค่าทดสอบให้มีราคาที่ไม่สูงเกินไป รวมถึงการกวดขันสถานประกอบการให้จ่ายค่าจ้างอย่างถูกต้อง

          อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 2566

          ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 12) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยสรุปดังนี้ 

          สาขาอาชีพภาคบริการ 440 - 825 บาทต่อวัน

          สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 410 - 660 บาทต่อวัน

          สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ 440 - 855 บาทต่อวัน

          สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง 405 - 685 บาทต่อวัน

          สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 345 - 825 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 400 - 540 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 440 - 530 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 440 - 530 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี 465 - 605 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 375 - 550 บาทต่อวัน

           กลุ่มอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ 495 - 605 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ 410 - 595 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 470 - 640 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก 405 - 515 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ 350 - 455 บาทต่อวัน

          กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า 395 - 450 บาทต่อวัน
แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.